เริ่มต้นกองทุนรวม

  • กองทุนรวมคืออะไร
  • ข้อดีและข้อเสียของการลงทุนผ่านกองทุนรวม
  • กองทุนรวมนั้นเหมาะกับนักลงทุนประเภทใด
  • ผลตอบแทนของกองทุนรวม
  • NAV คือ
  • ประเภทของกองทุนรวม
  • ระดับความเสี่ยงของกองทุนประเภทต่างๆ
  • หนังสือชี้ชวนคืออะไร
  • การเปิดบัญชีกองทุนรวมและการซื้อขายกองทุน
  • หักภาษี ณ ที่จ่ายคืออะไร
  • Auto Redemption คืออะไร
  • T+N คืออะไร

กองทุนรวมคืออะไร

กองทุนรวมคือการรวมเงินทุนจากเราๆท่านๆที่ซื้อกองทุน เพื่อนำเงินที่ได้ไปลงทุนอีกที โดยอาศัยประโยชน์จากเงินรวมที่มีจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น กองทุนรวมหุ้น จะนำเงินที่ได้จากผู้ซื้อกองทุน ไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และเนื่องด้วยจำนวนเงินที่มาก ทำให้สามารถซื้อหุ้นที่หลากหลายได้ และยังสามารถแบ่งซื้อได้หลายรอบ ซึ่งนักลงทุนรายบุคคลอาจไม่สามารถทำได้ หากมีจำนวนเงินลงทุนที่ไม่มากพอ ลองนึกว่าถ้าจะซื้อหุ้น SCC หรือปูนใหญ่ที่ราคาตัวละ 500 บังคับซื้อขั้นต่ำ 100 ตัวก็ต้องใช้เงินถึง 50,000 บาทแล้ว ได้แค่หุ้นตัวเดียว ไม้เดียวยังไม่ได้ถัวเลย เป็นต้น สำหรับการซื้อกองทุนรวม สิ่งที่เราจะได้รับก็คือ หน่วยลงทุน ซึ่งจะเป็นการบอกว่าเราได้เข้าไปร่วมลงทุนในกองทุนนั้นเป็นจำนวนกี่หน่วย ส่วนราคาต่อหน่วยนั้นก็จะขึ้นลงไปตามมูลค่าของสินทรัพย์ที่กองเข้าไปลงทุน ซื้อขายวันไหนก็ใช้ราคา ณ วันนั้น บางวันก็รวยขึ้น บางวันก็จนลง สำหรับบริษัทที่เสนอตัวมาจัดตั้งและบริหารกองทุน เราเรียกว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ซึ่งมีอยู่มากมาย และแต่ละบลจ.ก็มีหลากหลายกองทุนให้เลือกซื้อด้วย ส่วนกองทุนมีกี่ประเภท ลงทุนในอะไรได้บ้าง จะกล่าวในหัวข้อถัดๆไป

แล้วการลงทุนผ่านกองทุนรวมมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง

เอาข้อดีก่อน ข้อดีของการลงทุนผ่านกองทุนรวมคือ

  • มีมืออาชีพดูแลให้ หากเราลงทุนเองโดยตรง เราอาจมีข้อมูลที่ไม่มากพอ อีกทั้งเราอาจไม่มีเวลามานั่งเฝ้าจอเพื่อหาโอกาสซื้อขาย การลงทุนผ่านกองทุนรวมจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะมีผู้ที่มีความรู้และสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้โดยตรงคอยเลือกและตัดสินใจแทนเรา หรือที่เราเรียกว่า ผู้จัดการกองทุน นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการลงทุนในหุ้น แต่เราไม่สามารถประเมินราคาหุ้นตัวนั้นๆได้ เราก็จะไม่รู้ว่าราคาไหนควรซื้อหรือควรขาย หรือเราอาจไม่สามารถเข้าพบพูดคุยสอบถามความคืบหน้าของกิจการกับผู้บริหารหุ้นนั้นๆได้ดังเช่นที่ผู้จัดการกองทุนทำ เป็นต้น
  • ใช้เงินลงทุนน้อย แต่ได้กระจายความเสี่ยง การซื้อกองทุนนั้น บางกองทุนใช้เงินขั้นต่ำแค่ 500 บาทก็ซื้อได้แล้ว แปลว่าเงิน 500 บาทของเราสามารถกระจายการลงทุนได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น กองทุนหุ้น เราใช้เงินเพียง 500 บาท เราก็สามารถถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้หลายๆตัวแล้ว ซึ่งโดยมากกองทุนหุ้นทั่วไปจะถือหุ้น 20-30 ตัวเลยทีเดียว ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับการซื้อหุ้นเองโดยตรง เงิน 500 บาทจะสามารถเลือกหุ้นได้ที่ราคาไม่เกินตัวละ 5 บาทเท่านั้น ดูราคา BBL, CPALL, BDMS ซิ หมดหวัง หมดสิทธิ์ เป็นต้น แล้วการกระจายความเสี่ยงมันเป็นอย่างไร ขอยกตัวอย่างกองทุนหุ้นอีกแล้วกัน การถือหุ้นเองโดยตรงนั้น ส่วนมากมักถูกสอนกันมาไม่ให้ถือเกิน 10-15 ตัว บางคนถือหุ้นเพียงแค่ 3-4 ตัวเท่านั้นแม้จะมีขนาดพอร์ตเป็นสิบเป็นร้อยล้าน ลองคิดดู วันที่หุ้นขึ้น หุ้นที่เราถืออาจไม่ขึ้นก็ได้ หรือหุ้นที่เราถือ อาจโชคไม่ดี เช่นบริษัทโดนน้ำท่วมเล่นงาน ราคาหุ้นก็ร่วงหนัก เป็นต้น ทำให้มีความเสี่ยงสูง แต่กับกองทุนนั้น โดยมากถือหุ้นกระจายทุกอุตสาหกรรม ทำให้การขึ้นลงนั้นสอดคล้องไปกับตลาด ขึ้นลงวันหนึ่งไม่มาก วันไหนลง 1% ก็ว่าเยอะแล้ว ผิดจากการถือหุ้นเองน้อยตัวที่บางวันอาจลงไป 3-4% กันเลยทีเดียว
  • มีสภาพคล่องสูง ข้อนี้เป็นจุดเด่นของกองทุนเลยทีเดียว เพราะเราสามารถสั่งขายกองทุนได้ทุกวันทำการ เราก็จะได้ราคาขายของวันที่สั่งขายแน่นอน อีกทั้งเรายังสามารถแบ่งขายได้ตามที่ใจเราชอบด้วย (ยกเว้นบางกองทุนมีเงื่อนไขขั้นต่ำอยู่) เช่น สมมุติเราซื้อกองทุนไปแล้วจำนวน 100,000 บาท เวลาผ่านไป 1 ปี กองทุนเรามีกำไรมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 110,000 บาท เราสามารถสั่งขายเป็นจำนวนเงิน 10,000 ออกมา เสมือนถอนเอาแต่กำไรมาใช้ได้ด้วย ซึ่งในกรณีที่เป็นการขายหุ้นโดยตรงนั้น อาจทำไม่ได้ เพราะต้องมีเรื่องขั้นต่ำหุ้น 100 ตัว และยังต้องขึ้นอยู่กับการตั้งราคา Bid/Offer อีกด้วย เป็นต้น หรือเปรียบเทียบในกรณีที่เราถือหุ้นเองโดยตรง เรามีหุ้นอยู่ 15 ตัว หากเราต้องการจะลดพอร์ตลง 20% โดยต้องการขายแต่ละตัวเพียงตัวละ 20% เท่านั้น คือยังคงถือหุ้นครบ 15 ตัวเช่นเดิม ลดแต่ขนาดเงินลง ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น ทำได้ลำบากมาก
  • ได้ประโยชน์ทางภาษี กำไรที่เกิดจากการขายกองทุนนั้น ไม่ต้องนำไปคิดคำนวณภาษี ทำอาชีพนักเล่นกองทุนรวมก็ดีเหมือนกันนะ มีรายได้ก็ไม่ต้องเสียภาษี (รัฐคงบอก เลือกกองทุนให้ถูกมีกำไรก่อนเหอะ เห็นดอยกันถ้วนหน้า แซว) นอกจากนี้กองทุนประเภท LTF/RMF ยังเป็นกองทุนที่เอาไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

อ่ะๆการลงทุนผ่านกองทุนรวมใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีเสมอไป มาดูข้อเสียกันบ้าง

  • มีค่าธรรมเนียมและการบริหารจัดการ การลงทุนผ่านกองทุนนั้นเราจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการซื้อขายด้วย นอกจากนี้เรายังจะต้องเสียค่าบริหารจัดการอีกด้วย (ค่าบริหารนั้นเขาคิดหักในราคาสินทรัพย์กองทุนที่ขึ้นลงในแต่ละวันไปแล้ว) ซึ่งตรงนี้หลายคนมองว่า มันแพงกว่าการลงทุนเองโดยตรง
  • ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ บางครั้งสินทรัพย์ที่ผู้จัดการกองทุนเลือกลงทุนอาจไม่เป็นที่ถูกใจเราทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น กองทุนหุ้นอาจถือหุ้นน้ำมันอย่าง PTT ซึ่งเราอาจไม่ชอบ เป็นต้น
  • ไม่สามารถซื้อขายได้ ณ ราคาที่ขึ้นลงระหว่างวัน การซื้อขายกองทุนนั้นจะใช้ราคาปิด ณ สิ้นวันเท่านั้น ไม่สามารถใช้ราคาระหว่างวันได้ นักลงทุนไม่สามารถที่จะกะเก็งราคาที่ดีที่สุดระหว่างวันได้

กองทุนรวมนั้นเหมาะกับนักลงทุนประเภทใด

การลงทุนในกองทุนรวมนั้นเหมาะแก่นักลงทุนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความรู้แต่อาจไม่มีเวลาหรืออาจมีข้อมูลในการตัดสินใจไม่มากพอ ขอย้ำนะครับเหมาะสำหรับผู้มีความรู้ เพราะหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า กองทุนรวมเป็นเครื่องมือการลงทุนสำหรับผู้ไม่มีความรู้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เงินของเรา เราก็ต้องเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับเรา อีกทั้งเรายังต้องเลือกให้ถูกเวลาด้วย เลือกผิดก็ติดดอย ขาดทุนหนักๆได้เช่นกัน มีข้อคิดที่ฝากไว้เล็กๆเวลาเลือกกองทุนโดยเฉพาะกองทุนหุ้นนะครับว่า “กองทุนเลือกหุ้น ส่วนเราต้องเลือกราคา” ช่วยๆกันทำมาหากิน ยกตัวอย่างนะครับ สมมุติเราซื้อกองทุนวันนี้ที่ราคาหุ้น PTT อยู่ที่ 400 หุ้น SCC อยู่ที่ 500 เราก็ได้หุ้นในราคาเหล่านั้นแหละ ถ้าราคานั้นคือราคาที่แพง ณ วันที่เราซื้อ กองทุนที่เราซื้อก็คือแพงไปเช่นกัน เป็นต้น อย่าลืมว่าเราซื้อกองทุนรวม ไม่ใช่กองทุนส่วนบุคคล แล้วถ้าเราแทบจะไม่มีความรู้เลยหล่ะ ทำอย่างไร อย่างน้อยเราก็ต้องวิเคราะห์นโยบาย สไตล์การลงทุนของแต่ละกองทุน รวมทั้งผลงานย้อนหลัง ค่าความผันผวน ว่าเหมาะสมกับเราหรือไม่ ถ้าวิเคราะห์หรือหาข้อมูลเองไม่ได้ อย่าเพิ่งเข้ามาลงทุน หลายๆคนเชื่อพนักงานขายที่แนะนำกองทุนโดยไม่ได้วิเคราะห์ด้วยตัวเอง ซึ่งก็บ่นขาดทุนกันมามากต่อมากแล้ว กองทุนเดียวกัน บางคนซื้อแล้วกำไร บางคนซื้อกลับขาดทุนยังมีเลย เตือนอีกครั้ง

ผลตอบแทนของกองทุนรวม

การซื้อกองทุนเราจะได้ผลตอบแทนอย่างไร? การลงทุนในกองทุนรวมนั้นเราจะได้ผลตอบแทนในสองรูปแบบดังนี้

  • ผลตอบแทนจากการขายทำกำไร นั่นคือเมื่อกองทุนของเรามีราคาต่อหน่วยที่สูงขึ้น เช่น ตอนซื้อซื้อมาในราคา 10 บาทต่อหน่วย เวลาผ่านไป ผลการดำเนินการเป็นไปด้วยดี ราคาต่อหน่วยก็สูงขึ้นตาม ขึ้นไปที่ราคา 13 บาทต่อหน่วย หากเราขายเราก็จะได้กำไรจากส่วนต่างราคานี้ ซึ่งอาจมีค่าธรรมเนียมการขายบ้างเล็กน้อย เป็นต้น
  • ผลตอบแทนในรูปเงินปันผล กองทุนบางกองอาจมีนโยบายการจ่ายปันผล นั่นคือเมื่อผลการดำเนินงานมีกำไร ก็อาจตัดสินใจแบ่งส่วนกำไรนั้นจ่ายออกมาให้แก่ผู้ถือหน่วย ซึ่งจะทำให้เรามีกระแสเงินสดบ้างแม้ยังไม่ได้ขายกองทุนนั้นๆ แต่ๆๆการปันผลก็จะทำให้ราคาหน่วยลงทุนเราลดลงเช่นกัน เพราะถ้าไม่ได้จ่ายกำไรออกมา กำไรก็จะไปรวมอยู่ในราคาหน่วยให้งอกเงยขึ้นไปนั่นเอง รายละเอียดของราคาหน่วยลงทุนจะกล่าวในหัวข้อถัดๆไป



NAV คืออะไร?

Net Asset Value (NAV) คือมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่กองทุนนั้นๆถืออยู่ ดังนั้นเมื่อเอามาหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุน ก็จะได้ราคาต่อหน่วยหรือราคาต่อ NAV อย่างไรก็ตามนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะพูดคำว่า NAV เสมือนเป็น NAV ต่อหน่วย เช่น เวลานักลงทุนบ่นๆกันว่า NAV ลง เขาก็มักจะหมายถึงราคาต่อหน่วยที่ลดลง เป็นต้น ส่วนการคำนวณนั้น ทางบลจ.จะคำนวณโดยใช้ราคาปิดของสินทรัพย์ตอนสิ้นวันและประกาศในช่วงดึกๆหรือเช้าวันรุ่งขึ้น
แม้ว่าราคา NAV จะเป็นราคาอ้างอิงของกองทุน แต่การซื้อการขายนั้นโดยมากมีค่าธรรมเนียมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งทางกองทุนจะคิดรวมลงไปในราคาที่ใช้ซื้อขายเลย ทำให้มีราคาอ้างอิงดังต่อไปนี้

  • ราคาเสนอขาย คือราคาที่ขายให้แก่นักลงทุน โดยใช้ราคา NAV บวกด้วยค่าธรรมเนียม เช่น หากราคา NAV อยู่ที่ 10 บาท และมีค่าธรรมเนียมการขาย 1% เราจะต้องซื้อที่ราคาต่อหน่วย 10.1 บาท เป็นต้น ซื้อปุ๊บ ขาดทุนปั๊บ ต้องรอให้กองทุนงอกเงยก่อน ^^
  • ราคารับซื้อคืน คือราคาที่กองทุนรับซื้อคืนจากเรา โดยใช้ราคา NAV หักด้วยค่าธรรมเนียมออก เช่น หากราคา NAV อยู่ที่ 10 บาท และมีค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน 1% เราจะขายคืนได้ในราคาต่อหน่วยที่ 9.9 บาท เป็นต้น ก่อนขายอย่าลืมตรวจสอบตรงนี้ด้วย เดี๋ยวกำไรไม่เข้าเป้า ^^

ไม่ใช่ว่าทุกกองทุนจะคิดค่าธรรมเนียมทั้งการซื้อและการขาย โดยมากจะคิดแค่ฝั่งเดียว และค่าธรรมเนียมก็ถูกแพงต่างกันไปตามแต่ละบลจ.และแต่ละกองทุนด้วย ส่วนรายละเอียดเขาจะเขียนไว้ในหนังสือชี้ชวน (บางกองทุนมีค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มอีก!!! เพราะฉะนั้นอย่าลืมบวกส่วนนี้ลงไปด้วย ถ้าเอาชัวร์อย่าคำนวณเอง เอาราคาเสนอขายและราคารับซื้อคืนที่ประกาศเป็นหลัก เพราะเป็นราคาที่รวมทุกอย่างแล้ว) สำหรับการสั่งซื้อนั้นเราสามารถระบุเป็นจำนวนเงินได้เลย เช่น ซื้อ 5000 บาท เดี๋ยวเขาจะคำนวณให้เองว่า เราได้ทั้งหมดกี่หน่วย ส่วนการขายคืนเราสามารถระบุได้ว่าจะขายเป็นหน่วยหรือเป็นจำนวนตัวเงิน ไม่ยุ่งยากเลยครับ

ประเภทของกองทุนรวม

ในหัวข้อนี้เรามาดูประเภทของกองทุนรวมกันบ้าง โดยแบ่งประเภทตามสินทรัพย์ที่กองทุนนั้นๆไปลงทุน ซึ่งมีหลักๆดังต่อไปนี้

  • กองทุนรวมตราสารแห่งทุน (Equity Fund) คือกองทุนรวมที่ไปลงทุนในหุ้น หรือเรียกง่ายๆว่ากองทุนหุ้นก็ได้ ซึ่งกองทุนหุ้นนี้จะลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 65% ในรอบบัญชี สรุปคือเน้นลงทุนในหุ้นเป็นส่วนใหญ่ บางช่วงที่หุ้นดีๆก็อาจลงเต็มร้อย บางช่วงที่หุ้นไม่ดีก็อาจลงน้อยหน่อย แต่โดยเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 65% นั่นเอง สำหรับเงินที่เหลือเขาก็อาจเอาไปลงในเงินฝากหรือพันฐบัตรรัฐบาลเพื่อหาดอกผลก็เป็นได้ ส่วนกองทุนนั้นจะลงทุนในหุ้นสไตล์ไหนก็แล้วแต่ผู้จัดการกองทุนเลย ซึ่งจะมีบอกไว้ในหนังสือชี้ชวน เช่น กองทุนหุ้น Mid/Small Cap ก็จะลงทุนในหุ้นที่มีขนาดกิจการไม่ใหญ่มาก เพราะหุ้นเหล่านี้มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เป็นต้น กองทุนหุ้นจะมีความเสี่ยงและความผันผวนมาก ก็ตามตลาดหุ้นนั่นแหละ เวลาขึ้นก็ดีใจ เวลาลงก็ลงกันให้หน้ามืดเลย
  • กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) คือกองทุนรวมที่ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชนหรืออื่นๆที่เทียบเท่า กองทุนตราสารหนี้ยังมีแบ่งออกเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวอีก ซึ่งก็คือระยะเวลาของพันธบัตรนั่นเอง ในทางปฏิบัติพันธบัตรที่มีระยะเวลานานก็จะได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่า ก็เหมือนกับเงินฝากนั่นแหละ ยิ่งฝากนานดอกเบี้ยก็ยิ่งสูง นอกจากนี้หากลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่มีชื่อเสียงน้อยหน่อย อันดับเครดิตน้อย ก็มักจะได้ดอกที่สูงกว่าเพื่อจูงใจ หน้าที่ของผู้จัดการกองทุนก็จะต้องไปคัดเลือกและบริหารแทนเรา (ก็เขาเก็บค่าบริหารด้วยนะ ไม่ได้ทำให้ฟรี) ดังนั้นในทางทฤษฏีการลงทุนในกองตราสารหนี้ระยะยาวจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าแบบระยะสั้น และกองตราสารหนี้ก็มีความเสี่ยงที่ต่ำและต่ำมากเมื่อเทียบกับกองทุนหุ้น แต่ผลตอบแทนก็น้อย ให้มากกว่าการฝากเงินธนาคารนิดหน่อยเท่านั้นเอง อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจนึกว่ากองตราสารหนี้นี้ราคา NAV ไม่น่าจะมีลดลง ผิดแล้วครับ บางวันก็ลงครับ อ่าว ไม่ใช่รับดอกเบี้ยไปเรื่อยๆหรือ ไม่ใช่ครับ เวลาเขาคิดราคา NAV สิ้นวัน เขาเอาราคาพันธบัตรมาคิด ซึ่งเจ้าราคาพันธบัตรที่กองทุนซื้อมาแล้วนั้น ราคาขายต่อมันขึ้นลงกันได้ เพราะเกิดอัตราดอกเบี้ยที่จะใช้ใหม่ในอนาคตดันขึ้น ราคาพันธบัตรเราก็ตกทันที แต่ในทางกลับกันหากดอกเบี้ยเป็นขาลง ราคาพันธบัตรที่เราถือก็ได้ราคาขายต่อดีขึ้น สรุปแล้วราคา NAV มันมีโอกาสลดลงได้ แต่โดยรวมๆแล้วเมื่อเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง เช่น 3 เดือนขึ้นไป ลงทุนกองตราสารหนี้ก็ไม่ขาดทุนหรอก เพราะ NAV มันขึ้นมากกว่าลงครับ อ่อ และกองตราสารหนี้สั้นกลางก็จะมีความผันผวนน้อยกว่ากองระยะยาวนะครับ จะซื้ออะไรก็ต้องเลือกให้เหมาะสม
    เพิ่มเติม อย่างนี้ซื้อพันธบัตรถือเองไม่ดีกว่าหรือ รับดอกเบี้ยสบายใจ ถือจนครบสัญญา? การซื้อกองทุนตราสารหนี้นั้นให้สภาพคล่องที่ดีกว่ามากครับ เพราะวันใดอยากใช้เงิน อยากเอาเงินไปทำอย่างอื่น แค่สั่งขายพรุ่งนี้ก็รอรับเงินได้แล้วครับ ลองเทียบกับพันธบัตรระยะ 10 ปีดู อือหือ รอไปอีกสิบปีก่อนนะ เอาจริงๆพันธบัตรก็ขายได้ แต่ขายยากหน่อยนะครับ ยิ่งถ้าซื้อน้อยๆยิ่งขายเปลี่ยนมือยากครับ
    เพิ่มเติม 2 ตราสารหนี้รัฐบาลเราเรียกว่า พันธบัตร ส่วนตราสารหนี้เอกชนเราเรียกหุ้นกู้ เรียกรวมๆก็คือตราสารหนี้นั่นเอง
  • กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Maket Fund) คือกองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น (สั้นมากกก คือต่ำว่า 1 ปี) ทำให้มีความผันผวนต่ำ แต่ผลตอบแทนก็ต่ำตามไปด้วย โดยมากสูงกว่าออมทรัพย์นิดหน่อย นักลงทุนจึงมักใช้กองตลาดเงินเพื่อพักเงินเป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น ขายหุ้นไปได้เงินมาก้อนหนึ่ง ตั้งใจจะไปซื้อบ้านในอีกสองเดือนข้างหน้า ก็อาจพักเงินไว้ในกองตลาดเงิน เป็นต้น ส่วนมากแล้วราคา NAV รายวันกองตลาดเงินจะไม่เห็นติดลบ เพราะฉะนั้นนักลงทุนจึงนิยมใช้เพื่อพักเงินที่คาดว่าจะใช้ในระยะเวลาสั้นๆ
  • กองทุนรวมผสม (Balanced Fund) คือกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนผสมระหว่างหุ้นกับตราสารหนี้ เช่น 70/30 เป็นต้น ส่วนกองทุนไหนจะผสมในสัดส่วนเท่าไหร่ก็แล้วแต่นโยบายเขาเลย ยิ่งมีสัดส่วนตราสารหนี้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความผันผวนน้อยลง แต่ไม่ใช่ไม่ขาดทุนเลยนะ เห็นลงไม่ต่างกันเล้ย เพราะตราสารหนี้ผลตอบแทนมันน้อย ไม่สามารถชดเชยการขาดทุนในหุ้นได้ครับ แค่ลงน้อยกว่ากองหุ้นเท่านั้นเอง
  • กองทุนรวมผสมแบบยึดหยุ่น (Flexible Portfolio Fund) คือกองทุนที่ไปลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ แต่ไม่กำหนดสัดส่วนตายตัว ทำให้ผู้จัดการกองทุนสามารถถือแต่ตราสารหนี้หรือหุ้นได้ 100% เลยทีเดียว ส่วนกองทุนที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ในรอบบัญชีต้องถือเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าที่ระบุไว้ในนโยบายครับ แต่กองแบบยืดหยุ่นนั้นไม่จำเป็น
  • กองทุนรวมต่างประเทศ (Foreign Investment Fund) คือกองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นหุ้นหรือตราสารหนี้ก็ได้ โดยมากทางบลจ.มักจะไปซื้อกองทุนในบริษัทต่างประเทศอีกที เพราะเรามีข้อมูลที่น้อยกว่าเขา ซึ่งกองทุนประเภทนี้เราจะเรียกย่อยว่าเป็นกองทุนแบบ Feeder Fund ดังนั้นการลงทุนใน Feeder Fund ก็ต้องไปดูผลงานและนโยบายกองแม่ที่เราไปลงทุนด้วย นอกจากนี้กองทุนรวมต่างประเทศยังรวมไปถึงกองทุนทางเลือกด้วย กล่าวคือไปลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่น เช่น น้ำมัน ทองคำ เป็นต้น
  • กองทุนเพื่อสิทธิทางภาษี LTF/RMF คือกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น แต่ว่าจะได้สิทธิ์ทางภาษี คือซื้อแล้วเอาไปลดหย่อนภาษีได้นั่นเอง กองทั่วไปใช้ลดภาษีไม่ได้ แต่กองเหล่านี้จะมีข้อบังคับที่ต้องไปศึกษาอีกที หลักๆคือโดนบังคับให้ถือห้ามขายก่อนเวลาที่กำหนด ขายก่อนโดนปรับและริบส่วนลดภาษีคืน

ระดับความเสี่ยงของกองทุนประเภทต่างๆ

กองทุนที่เปิดขายในบ้านเรา มีการจัดระดับความเสี่ยงเป็นตัวเลขจาก 1-8 โดยตัวเลข 8 คือความเสี่ยงสูงที่สุด ซึ่งกองทุนประเภทตลาดเงินและตราสารหนี้จะมีระดับความเสี่ยงที่ต่ำกว่ากองทุนหุ้น ส่วนกองทุนหุ้นแบบเจาะจงรายอุตสาหกรรมหรือกองทุนทางเลือกจะมีระดับความเสี่ยงสูงที่สุด ยกตัวอย่างเช่น กองทุนรวมหุ้นภาคธนาคาร ซึ่งลงทุนแต่เฉพาะหุ้นธนาคารเท่านั้น โอกาสเกิดความเสี่ยงจึงสูงกว่ากองหุ้นทั่วไปได้ หรือกองทุนหุ้นโรงพยาบาลก็จะมีตัวเลขความเสี่ยงที่สูงกว่ากองทุนหุ้นทั่วไป ไม่ต้องแปลกใจนะครับ แม้บางคนจะมองว่าหุ้นโรงพยาบาลไม่เสี่ยง เขาไม่ได้คิดกันแบบนั้นนะครับ เป็นต้น เอาเป็นว่าให้รู้เกี่ยวกับตัวเลขนี้ไว้ ซึ่งในหนังสือชี้ชวนจะต้องมีระบุตัวเลขนี้ไว้เสมอ แม้จะไม่ค่อยมีใครดู ^^

หนังสือชี้ชวนคืออะไร

เวลาเราจะซื้อกองทุน เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากองทุนนั้นมีนโยบายการลงทุนเป็นอย่างไร ค่าธรรมเนียมคิดเท่าไหร่ ทั้งหมดก็รู้ได้จากหนังสือชี้ชวนครับ (ไม่ใช่เพื่อนชวน ซื้อตามเพื่อนบอก) ซึ่งสามารถดาวน์โหลดมาอ่านได้จากเว็บของบลจ.เลย ถ้าไปซื้อที่ธนาคารที่เป็นตัวแทนขาย บางเจ้าก็มีพิมพ์เป็นกระดาษให้อ่านด้วยนะครับ แต่ไม่ค่อยมีใครอ่านเลย!!! บางทีมันอาจจะยาวไปมีเป็นหลายสิบหน้าเลย แต่ไม่ต้องตกใจไป เขาจะมีแบบสั้นให้อ่านด้วยครับ เรียกว่า หนังสือชี้ชวนฉบับย่อ (หรือหนังสือชี้ชวนส่วนสรุป) ซึ่งมีแค่สองถึงสามหน้าเท่านั้นเอง หลักๆก็บอกเกี่ยวกับนโยบาย (แต่ส่วนมากพูดกว้างมาก ลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี แน่สิ บลาๆ สั้นๆ ไม่ได้ใจความเล้ย อยากรู้เพิ่มต้องไปอ่านฉบับเต็ม) เปิดขายช่วงวันเวลาไหนบ้าง ค่าธรรมเนียม ผลงานย้อนหลังที่ผ่านมา (ถ้ากองใหม่ก็ไม่มีข้อมูล) พอร์ตลงทุน 5 อันดับแรก ระดับความเสี่ยง แค่นี้ก็เห็นภาพกว้างๆแล้วว่าน่าสนไหม

การอ่านหนังสือชี้ชวนส่วนสรุป

การเปิดบัญชีกองทุนรวมและการซื้อขายกองทุน

หากเราต้องการจะซื้อกองทุนรวม เราต้องทำอย่างไร ก่อนอื่นให้เลือกกองทุนที่ต้องการให้ได้เสียก่อน จากนั้นจึงไปทำการเปิดบัญชีกองทุนรวมที่บลจ.ของกองทุนรวมนั้นๆ โดยมากแล้วบลจ.ก็เป็นบริษัทย่อยของธนาคารอีกที ดังนั้นสามารถไปเปิดบัญชีได้ที่ธนาคารสาขาต่างๆได้เลย เช่น ชอบกองทุนของบัวหลวง ก็ไปที่ธนาคารกรุงเทพได้เลย เป็นต้น ก่อนเราจะซื้อกองทุนได้นั้น เราต้องเปิดบัญชีก่อน หนึ่งบลจ.ก็หนึ่งบัญชี (ยกเว้นซื้อ LTF/RMF จะมีเพิ่มอีกบัญชี) ซึ่งเราจะได้เลขที่บัญชีมา หลังจากนั้นเราสามารถที่จะซื้อกี่กองทุนก็ได้ด้วยเลขที่บัญชีเดิมนี้ และการซื้อแต่ละกองทุน เราจะได้สมุดบัญชีกองทุนแยกเล่มมา หน้าตาก็เหมือนกับสมุดบัญชีเงินฝากนี่แหละ แต่บางที่ก็ใช้เล่มเดียวรวมทุกกองทุนเลย หากเราต้องการซื้อกองทุนของอีกบลจ.ก็ทำเช่นเดิม ได้เลขที่บัญชีใหม่ครับ ส่วนเอกสารการสมัครก็ไม่มีอะไรพิเศษ ใช้แค่บัตรประชาชนเท่านั้น แต่การเปิดบัญชีครั้งแรกจะใช้เวลานานกว่าการซื้อครั้งถัดๆไป เพราะต้องกรอกข้อมูลเยอะ อีกทั้งยังต้องทำแบบฟอร์มประเมินว่าเรารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ทำครั้งแรกครั้งเดียวต่อหนึ่งบลจ. ถ้าเราประเมินได้คะแนนต่ำ เวลาเราจะซื้อกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนทองคำ เราก็จะต้องเซ็นว่า เอาจริงนะ เพิ่มอีก ^^ ไม่มีอะไรไม่ต้องตกใจ เหมือนปรามๆเราเท่านั้น แต่ตอนนั้นเราจะเอาใครก็หยุดเราซื้อไม่ได้หรอก (อันนี้เรื่งจริง)
การไปซื้อกองทุนที่สาขานั้นค่อนข้างไม่สะดวก เพราะต้องเสียเวลาเดินทาง ต้องไปรอต่อคิว ถ้าที่ธนาคารก็ต่อคิวกับผู้ที่มาเปิดบัญชีเงินฝากใหม่นั่นแหละ คิดดูแล้วกัน รอนานแค่ไหน จึงมีทางเลือกให้เราซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตได้ แต่ต้องมีเลขที่บัญชีอยู่ก่อนแล้ว และได้สมัครทำการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตไว้ด้วย ดังนัั้นแนะนำว่าให้สมัครตอนที่เปิดบัญชีเลย แค่นี้ก็ง่ายแล้ว วันไหนหุ้นตกหนักๆ กดซื้อซะเลย คลิกเดียวดอย -_-”
ลืมบอกไปว่า การเปิดบัญชีกองทุนนั้นจะต้องมีสมุดบัญชีออมทรัพย์ไว้รับเงินปันผลหรือเงินขายกองทุนคืนด้วย บางบลจ.อาจให้ใช้ได้ทุกธนาคาร แต่บางที่ก็ไม่ได้ ลองโทรสอบถามเจ้าหน้าที่ก่อน เพื่อจะได้เตรียมสมุดเก่าไป ไม่ต้องเปิดใหม่วุ่นวายครับ และการเปิดบัญชีทุกครั้ง เขาจะถามเราว่าเงินปันผลหักภาษี ณ ที่จ่ายอัตโนมัติเลยมั้ย แนะนำว่าให้หักเลยครับ ไปจ่ายเองทีหลัง วุ่นวายกว่า ผิดพลาดโดนปรับอีก สิ้นปีเกิดรายได้ไม่ถึงไปขอคืนได้ ไม่ยากครับ

หักภาษี ณ ที่จ่ายคืออะไร

หากกองทุนที่เราเลือกมีนโยบายจ่ายเงินปันผล เงินปันผลที่ได้นั้นตามกฏหมาย เราจะต้องเสียภาษีด้วย หากเราเลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย เราจะถูกหัก 10% แม้ว่าเราจะมีรายได้ที่สูงแค่ไหนก็ตาม เราไม่ต้องนำมันมาคำนวณภาษีประจำปีอีกแล้ว แต่หากเราเลือกที่จะไม่หัก ณ ที่จ่าย เราจะต้องนำมันมาคำนวณตามเกณฑ์รายได้ของเรา (หากรายได้เราไม่ถึงที่จะต้องเสียภาษี 10% เราก็สามารถนำมากรอกเพื่อขอคืนได้) ดังนั้นจึงแนะนำว่าให้เลือกหักภาษี ณ ที่จ่ายเลยจะดีกว่า ส่วนผลกำไรจากการขายคืนกองทุนไม่มีภาษีครับ ^^

Auto Redemption คืออะไร

Auto Redemption คือการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ จริงๆแล้วก็คือปันผลชนิดหนึ่งนั่นแหละ แต่การขายคืนแบบอัตโนมัตินั้นไม่ต้องเสียภาษีครับ แต่การขายจะทำให้จำนวนหน่วยน้อยลง ในขณะที่การจ่ายปันผลจะทำให้ NAV ต่อหน่วยลดลงแทน สรุปคูณกันแล้วมูลค่าการลงทุนที่เหลือของเราในกองทุนก็เท่ากันนั่นแหละ แต่ Auto Redemtion มันทำให้เราได้ปันผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง

T+N คืออะไร

เวลาเราขายคืนกองทุน ไม่ใช่ว่าเราจะได้เงินทันทีในวันนั้น อย่างแรกเลยเพราะเขาต้องคำนวณด้วยราคาปิดตอนสิ้นวัน อย่างเร็วเราก็ได้วันรุ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องดูหนังสือชี้ชวน เขาจะระบุว่าได้รับเงินคืนวันไหน โดยจะระบุเป็น T+N โดยที่ T คือวันที่ขาย N คืออีกกีวันได้ เช่น T+1 คือขายวันนี้อีกหนึ่งวันได้ T+3 ขายวันนี้อีกสามวันถึงจะได้ ถ้าเจอเสาร์อาทิตย์ก็ต้องบวกเข้าไปอีก โดยมากกองทุนต่างประเทศจะได้ช้า T+5 กันเลยทีเดียว

 

โชคดีการลงทุนเด้อ ^^