แนวทางการลงทุนรูปแบบต่างๆ
วันนี้ตั้งใจจะมาสรุปแนวทางการลงทุนรูปแบบต่างๆเพื่อให้เห็นภาพว่า แต่ละแบบมันมีที่มาทีไปอย่างไรกันบ้าง จะได้ไม่สับสนกัน ก่อนอื่นเลยต้องทำความเข้าใจหัวใจการลงทุนก่อนว่า มันคือการทำกำไรครับ ซื้อถูกขายแพง หรือซื้อแพงแล้วแต่ขายแพงกว่านั่นเอง ถูกม่ะ ลงทุนแล้วไม่กำไร จะลงทุนทำไม (การลงทุนไม่ใช่การแจกตังค์นะครับ ฮา) แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะขายแพงกว่าที่ซื้อได้ นี่แหละประเด็นการแบ่งแยกแนวทางการลงทุนเลยพี่น้อง โอเค เข้าเรื่อง วิชาการ
หากจะแบ่งนักลงทุนตามแนวความเชื่อเรื่องตลาด เราสามารถแบ่งได้เป็นสองแคมป์:
1. แคมป์ที่เชื่อว่าตลาดมันไม่มีประสิทธิภาพ (Inefficient Market) ราคามันบิดเบือน ถูกไปบ้าง แพงไปบ้าง เราจะใช้ประโยชน์นี้หากำไร ถูกก็ซื้อสิ แพงก็ชอร์ตเลย ประมาณนั้น
2. แคมป์ที่เชื่อว่าตลาดมันมีประสิทธิภาพ (Efficient Market) โดยตัวมันเองอยู่แล้ว กะเก็งไปก็ไม่ถูก ถึงจะมีบิดเบือนบ้างก็ไม่มากพอ หรือคุ้มค่าต่อการเสี่ยงทำกำไร แต่จะใช้การทำ Asset Allocation เพื่อปรับความเสี่ยงให้เหมาะสมกับผลตอบแทนหรือลงทุนแบบ DCA แทนก็ได้
เอาหล่ะ มาลงรายละเอียดแต่ละรูปแบบกัน แบบที่ 1 แคมป์ Inefficient Market แคมป์ที่มองว่าตลาดบิดเบือน เพราะฉะนั้นเราสามารถวิเคราะห์หาโอกาสทำกำไรได้ ซึ่งยังสามารถแบ่งออกเป็นอีกสองแนวทางย่อยคือ
1.1 วิเคราะห์เชิงเทคนิค (Technical Analysis)
1.2 วิเคราะห์เชิงพื้นฐาน (Fundamental Analysis)
การเวิเคราะห์เชิงเทคนิคนั้น เน้นดูชาร์ตหรือกราฟเป็นหลัก ซึ่งก็มีหลากหลายรูปแบบการดู เช่น ดูแนวรับแนวต้าน ดูอินดิเคอเตอร์ ดูเส้นค่าเฉลี่ย ดูฟิโบ ดูแท่งเทียน เป็นต้น การวิเคราะห์ทางเทคนิคนี้ส่วนใหญ่ชอบซื้อขาขึ้น คือดูแนวโน้มว่ามันขึ้น ก็ Follow ตามเลย หรือพูดง่ายๆซื้อแพงแต่ขายได้แพงกว่า แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไปนะครับที่จะต้องซื้อขาขึ้น แต่เห็นเขามักทำกันแบบนี้ซะเป็นส่วนใหญ่ บางคนถนัดช่วงหุ้น Side way ก็มี ซื้อแนวรับขายแนวต้าน เล่นมันได้หลายๆรอบ ขยันเก็บแต้มเอา เป็นต้น พวกแนวเทคนิคนี้เขามักบอกว่า “Price includes everything” ราคามันได้รวมเอาทุกปัจจัยลงไปแล้ว จะข่าว จะงบการเงิน จะฟันด์โฟล์ ทุกอย่างมันสะท้อนอยู่ในราคาไปแล้วนั่นเอง หลอกกันไม่ได้ (ยกเว้นกราฟหลอก เจ้าทำ ฮา) อย่างไรก็ตามการลงทุนแนวเทคนิคนี้ มักใช้กับการลงทุนระยะสั้นถึงกลาง ไม่ได้ถือหุ้นกัน 5 ปี 10 ปี (ยกเว้นกราฟหุ้นมันไม่มีแนวโน้มจะลงเลย อยากได้หุ้นแบบนี้จัง) หลายคนจึงบอกว่าแนวนี้ไม่ใช่การลงทุน แต่เรียกว่าการเล่นหุ้น ซึ่งก็มีคนแย้งนะ เพราะถ้ามันทำกำไรได้สม่ำเสมอ มันก็คือการลงทุนนั่นแหละ เขาแค่สลับสับเปลี่ยนหมุนตัวเล่นบ่อยกว่าแนวอื่นเท่านั้นเอง เออจริง สรุปแล้วแนวทางเทคนิคมันน่าจะเหมาะกับการทำกำไรในระยะสั้นถึงกลางมากกว่า และแนวทางเทคนิคนี้เขาจะคัทลอสหรือสต็อปลอสหุ้นเร็ว ไม่กี่เปอร์เซนต์ ถ้าผิดทางเขาก็เผ่นแล้ว แล้วก็ไม่ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำที่สุดด้วย ไม่ไปนั่งหาว่าหุ้นต่ำสุดหรือยัง เขาหาแต่ว่ามีโอกาสขายได้แพงกว่าหรือไม่เป็นหลักครับ
ส่วนการวิเคราะห์ทางพื้นฐานนั้นเขาใช้วิธีประเมินมูลค่าหุ้น โดยมากก็ประเมินจากตัวเลขทางการเงินนี่แหละ หรือที่เรียกว่า Quantitative Analysis นอกจากนี้ยังต้องประเมินเชิงแนวโน้มธุรกิจอีกหรือที่เรียกว่า Qualitative Analysis ทั้งหมดทั้งปวงก็จะได้ราคาเหมาะสมของหุ้นออกมา จากนั้นก็ดูว่าราคาปัจจุบันมันต่ำกว่ามูลค่าที่ประเมินหรือควรจะเป็นหรือไม่ ถ้าต่ำกว่าเยอะๆก็เข้าซื้อแล้วรอเวลา เพราะกลุ่มนักลงทุนแนวนี้เชื่อว่าในระยะยาวแล้ว ราคาหุ้นจะต้องสะท้อนพื้นฐานความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่นนะ หุ้น A มีกำไรเพิ่มทุกปี จ่ายปันผลดีและเพิ่มทุกปี แต่บางช่วงบางเวลาตลาดตกใจหวั่นไหวกับข่าวภายนอก ราคามันเลยลงเกินความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นโอกาสทำกำไร ช้าเร็วราคาก็ต้องสะท้อนความเป็นจริงนั่นเอง เป็นต้น เราอาจจะรู้สึกว่าแนวทางการลงทุนนี้เหมือนแนว VI (Value Investor) เลย มันก็อันเดียวกันนั่นแหละ ส่วนความแตกต่างของนักลงพุง เอ้ย นักลงทุน (วิชาการๆ) แนวพื้นฐานกับแนวเทคนิคก็คือ แนวพื้นฐานจะชอบราคาต่ำๆยิ่งถูกยิ่งดี ลงอีกซื้ออีก และอดทนรอจนหุ้นแสดงพลังทำร้ายล้างออกมาครับ กำไรกันบางทีเป็นเด้งๆเลย แต่ไม่ใช่ซื้อวันนี้ อีกสามวันได้หนึ่งเด้งนะ นั่นหุ้นปั่นจ้า ต้องอดทนรอกันเป็นปีๆเลย และแม้หุ้นขึ้นมามากแล้วก็อาจไม่ขาย แม้ชาวกราฟจะบอก เฮ้ย กราฟเริ่มเสียทรง หัวเริ่มปัก ชาวพื้นฐานก็ไม่หวั่น ตราบใดที่ราคายังต่ำกว่ามูลค่าที่ประเมินไว้ หรือในทางกลับกันหากซื้อแล้วราคาลงก็ไม่หวั่นอีกเช่นกัน ถ้าพื้นฐานกิจการของหุ้นตัวนั้นยังไม่เปลี่ยน เห็นม่ะ แตกต่างกันคนละเรื่องเลย!! เสริมหน่อย เคยได้ยินวีไอในทีวีพูดไหมครับ หุ้นยิ่งลงยิ่งชอบ หุ้นขึ้นเขาไม่ชอบ เขาหมายถึงหุ้นลง (เขายังซื้อไม่ครบ) เขาชอบมาก หุ้นขึ้น (ถ้าเขาซื้อแล้ว) ถึงชอบครับ ^^ เขาวงเล็บในใจหน่ะครับ แซวเล่นนะ จะโดนตึบมั้ยเนี่ย 😛
มาดูแคมป์ที่ 2 กันบ้างแคมป์ Efficient Market นักลงทุนแคมป์นี้เชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพ อย่าไปพยายามกะเก็งเลย ถึงตลาดบิดเบือนไปก็ไม่มาก ไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่ได้รับ ถ้างั้นไม่ต้องลงทงลงทุนไม่เลยแล้วกัน ไม่ใช่ละ เอาใหม่นะ นักลงทุนกลุ่มนี้เข้าใจตลาดดีและรู้ว่าตลาดทุน ก็หุ้นนั่นแหละ เป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีมากๆ โดยเฉพาะในระยะยาว แม้ระหว่างทางจะต้องเจอกับความผันผวนก็ตาม เพราะฉะนั้นจึงยังต้องการที่จะลงทุนในสินทรัพย์นี้ แต่ไม่ไปกะเก็งตลาดมากนัก เรียกว่าลงทุนกับมัน Buy and Hold แล้วเติบโตในระยะยาวไปกับตลาดเลย ยกตัวอย่างนะ ดูดัชนีตลาดหุ้นหรือราคากองทุนก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งสิ หรือก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ก็ได้ สุดท้ายผ่านความผันผวนไป ก็ยังเติบโตต่อไปได้ เป็นต้น ในเมื่อนักลงทุนกลุ่มนี้ไม่กะเก็งตลาดมากนัก ก็จึงมักลงทุนผ่านกองทุนรวมอีกที คือเสมือนลงทุนทั้งตลาด ฟังดูมันสบายไปเปล่าไม่ต้องทำอะไร ซื้อกองทุน นอนรอ จบ แฮปปี้ ไม่ขนาดนั้นครับ นักลงทุนแคมป์นี้ส่วนใหญ่จะใช้การทำ Asset Allocation เพื่อปรับความเสี่ยงให้เหมาะสมกับผลตอบแทนการลงทุนครับ เพราะช่วงเวลาจะนำเงินออกมาใช้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งการทำ Asset Allocation โดยมากจะใช้ หุ้นกับตราสารหนี้ มาผสมกัน และจะกำหนดกรอบใหญ่หรือสัดส่วนการลงทุนก่อน หรือที่เราเรียกว่าการทำ Strategic Asset Allocation นั่นเอง และระหว่างทางการลงทุนก็มีการกะเก็งตลาดบ้าง และกระทำผ่านการทำ Tactical Asset Allocation แต่ก็ไม่ได้มากจนถึงขั้นทำให้ Strategy หรือกรอบใหญ่ที่วางไว้ผิดรูปผิดร่างไป หรือนักลงทุนอาจไม่ทำ Tactical Movement แต่เลือกที่จะ Lazy และ Buy and Hold ไปก็เป็นได้ แล้วแต่สไตล์ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเลือกแบบไหน ระหว่างทางการจะมีการทบทวนพอร์ตการลงทุนและปรับเปลี่ยนให้อยู่ในเส้นทางหรือแผนที่วางไว้เสมอ หรือที่เราเรียกว่าการทำ Rebalancing พอร์ตนั่นเอง นอกจากนี้สไตล์การผสมผสาน (Allocation) ยังสามารถผสมแบบได้ผลตอบแทนสอดคล้องไปกับดัชนีอ้างอิง (แบบ Relative) หรือผสมผสานแบบขัดแย้งเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเป็นบวกเสมอ (แบบ Absolute) ก็ได้ นั่นมันรายละเอียดปลีกย่อย ดังนั้นอย่าเพิ่งงง สรุปคือ หุ้นนั้นดีในระยะยาว แต่ไม่อยากคาดเดากะเก็งมันมากนัก จึงลงกระจายให้เติบโตไปพร้อมกับตลาดนั่นเอง มีปรับสัดส่วนบ้างตามความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวัง ส่วนจะทำให้ได้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดขึ้นอีก นั่นเป็นเทคนิคปลีกย่อยแล้วครับ สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับแคมป์นี้เคยเขียนไปบ้างแล้ว ไปลองหาอ่านเอาดูนะ
ยังๆแคมป์นี้ยังไม่จบ การลงทุนด้วยเทคนิค DCA (Dolloar Cost Averaging) ก็ตกอยู่ในแคมป์นี้นะ เพราะไม่คาดเดา ไม่กะเก็งตลาดเช่นกัน จึงเลือกใช้การลงทุนแบบเฉลี่ยรายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส ไปเรื่อยๆ ลงก็ซื้อ ขึ้นก็ซื้อ เพราะมีความเชื่อว่าระยะยาวแล้วหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่ดี ส่วนเราก็ได้ราคากลางๆไม่ถูกไม่แพง ประมาณนั้น โดยมากมักใช้กองทุนดัชนีมาทำ DCA แต่ก็มีบางคนลงหุ้นเองรายตัวนะ คือเลือกแล้ววิเคราะห์มาแล้วว่าหุ้นเหล่านี้ดีจริง แต่ไม่อยากไปกะเก็งราคา จึงใช้วิธีการทำ DCA กับหุ้นรายตัวเลย ก็ได้เช่นกัน ^^ อ่อ ไม่ใช่ DCA กับหุ้นตัวเดียวนะ เขามักเลือกมา 5-7 ตัว แทนแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมครับ
สรุปนะ เราไม่ได้มาถกเถียงกันว่าตลาดมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือวิธีไหนดีกว่ากัน แต่ที่เขียนมานี้ ต้องการให้เราพิจารณาตัวเองว่า เราลงทุนรูปแบบไหนอยู่หรือเราเหมาะสมกับแนวทางไหนเท่านั้นครับ แคมป์ Inefficient Market ถ้าเราทำได้ดี ก็ได้กำไรมากครับ แต่เวลาขาดทุนก็มากเช่นกัน แคมป์ Efficient Market อาจได้ผลตอบแทนน้อยกว่าเพราะกระจายการลงทุน แต่ขาดทุนก็น่าจะน้อยกว่าเช่นกัน เลือกที่เหมาะสมกับเราก็แล้วกัน อ่อ หรืออยากลงทุน แต่แพ้ตลาด แจกเงินตลอดเลย ก็อย่าไปเอาชนะมันเลย โตไปพร้อมกับมันก็ได้นะ นี่แหละที่อยากจะสื่อ ^^
ปูลู เราอาจผสมผสานรูปแบบการลงทุนต่างๆเข้าด้วยกันก็ได้นะ ถ้าเราเข้าใจมันดี เพราะมันไม่มีอะไรตายตัวครับ ^^ แค่ระวังธาตุไฟเข้าแทรกแค่นั้นแหละ 😛
ปูลู การลงทุนแนวอื่นๆยังมีอีกนะ เช่น แนว Quant เป็นต้น แต่ที่เขียนมันเป็นแนวทางหลักๆครับ ^^
ปูลู วันนี้เขียนแนวบ่นๆ แต่ก็พยายามเรียบเรียงแล้วนะ ใครอ่านแล้วงงๆ เพราะคนเขียนก็งง ยิ่งทำให้สับสน ก็ข้ามๆมันไปครับ ^^