Asset Allocation

Asset Allocation คืออะไร

Asset Allocation คือการจัดพอร์ตการลงทุนด้วยการผสมผสานหลากหลายสินทรัพย์เข้าด้วยกัน เพื่อปรับความเสี่ยงให้เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุน ยกตัวอย่างเช่น พอร์ตการลงทุนอาจผสมผสานระหว่าง หุ้น หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ ตราสารหนี้ต่างประเทศ ทองคำ REIT เป็นต้น ส่วนจะผสมผสานด้วยสินทรัพย์อะไรบ้างและด้วยสัดส่วนเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ แล้วทำไมเราจะต้องทำ Asset Allocation ทั้งนี้เพราะ จากการศึกษาและทดสอบผลการดำเนินงานย้อนหลังในหลายๆงายวิจัยพบว่า การทำ Asset Allocation ช่วยให้ความผันผวนในการลงทุนระหว่างทางลดลง ลองนึกดูว่าถ้าเราถือกองทุนหุ้น Mid/Small Cap 100% เป็นเวลา 10 ปี ผลตอบแทนที่ได้นั้นสูงมาก แต่ระหว่างทางในแต่ละปีนั้นมีความผันผวนมาก บางปีกำไรมาก บางปีขาดทุนหนัก แต่การทำ Asset Allocation จะทำให้ผลตอบแทนที่ได้ในแต่ละปีนั้นผันผวนน้อยกว่า กล่าวคือกำไรไม่มากเท่า แต่เปอร์เซนต์การขาดทุนก็น้อยลงเช่นกัน ที่น่าแปลกใจคือ ไม่ว่าเราจะทำ Asset Allocation หรือไม่ ในระยะยาวแล้วผลตอบแทนที่ได้เฉลี่ยต่อปีกลับไม่ต่างกัน !!! อธิบายได้อย่างนี้นะครับ การถือหุ้น 100% มีบางปีที่ดีบางปีที่แย่ ระยะยาวก็เฉลี่ยกันไป ส่วนการทำ Asset Allocation ในแต่ละปีมีสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนต่างกันไป จึงเหมือนกับเฉลี่ยกันภายในปีนั้นๆเลย อ่าว แล้วเราจะทำ Asset Allocation ไปเพื่ออะไร? ประโยชน์ที่ได้อย่างหนึ่งคือ ทำให้เราไม่ยอมแพ้ต่อการลงทุนไปเสียก่อนในระหว่างทางนั่นเอง ลองคิดดูว่าเราไม่ทำ Asset Allocation และเข้าตลาดมาได้ไม่นาน ตลาดก็เกิดวิกฤตเสียแล้ว พอร์ตเราคงขาดทุนอย่างหนัก และเราอาจถอดใจล้มเลิกการลงทุนไปเสียก่อน

**ในแต่ละปี จะมีสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีหรือแย่ต่างกันไป เช่นบางปีทองคำดี บางปีหุ้นดี บางปีตราสารหนี้ดี แต่ก็มีบางปีเช่นกันที่พร้อมใจกันแย่ไปหมด เพราะฉะนั้นการทำ Asset Allocation ไม่ได้การรันตีว่าผลตอบแทนจะเป็นบวกได้เสมอไป แค่ช่วยลดความเสี่ยงและความผันผวนลงเท่านั้น แม้ปีที่ทุกสินทรัพย์พร้อมใจกันแย่ แต่การทำ Asset Allocation ก็ยังช่วยให้ความสูญเสียของพอร์ตนั้นลดลงได้ เพราะแต่ละสินทรัพย์นั้นลดลงไม่เท่ากัน

สินทรัพย์หลักที่ใช้ในการทำ Asset Allocation

สินทรัพย์หลักๆที่เราใช้ทำ Asset Allocation ก็คือ หุ้นและตราสารหนี้ หุ้นนั้นมีความเสี่ยงสูงที่สุดแต่ก็ให้ผลตอบแทนดีที่สุดเช่นกัน ส่วนตราสารหนี้ก็เรื่อยๆเหมือนเงินฝากแต่ดีกว่าเล็กน้อย ให้ผลตอบแทนไม่มากแต่ความเสี่ยงก็ต่ำเช่นกัน การทำ Asset Allocation นั้นหลักๆก็ใช้สองสินทรัพย์นี้ผสมผสานกันในสัดส่วนที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาด้วย อย่างไรก็ตามเราอาจมีการจัดสินทรัพย์ย่อยภายในอีกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ในส่วนของหุ้น ก็มีทั้งหุ้น Large Cap, Mid/Small Cap, หุ้น Value, หุ้น Growth, หุ้นต่างประเทศ, หุ้น Developed Market, หุ้น Emerging Market, หุ้น Foreign Big Cap, โอ้เยอะแยะมากมาย ในส่วนของตราสารหนี้ก็เช่นกัน มีแยกย่อยลงไปอีก นอกจากนี้เรายังมีสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆอีกด้วย หลักๆได้แก่ ทองคำ, น้ำมัน, และ Reit

วางแผน Asset Allocation

การวางแผนจัดพอร์ต Asset Allocation นั้นทำได้หลากหลายรูปแบบ แต่โดยมากมักใช้ความเสี่ยงที่รับได้เป็นตัวกำหนด เช่น อายุ เป็นต้น อายุน้อยก็รับความเสี่ยงได้มาก ก็อาจลงหุ้นในสัดส่วนที่เยอะ ในขณะที่คนอายุมากหน่อยก็รับความเสี่ยงได้ลดลง สัดส่วนหุ้นก็ลดลงตามไป บางทีอายุก็ไม่ใช้กฏเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดสัดส่วน เพราะบางคนแม้มีอายุมาก แต่มีความรู้มีประสบการณ์การลงทุนมามาก ก็ยังคงต้องการลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่เยอะ ก่อนเราจะไปดูตัวอย่างสัดส่วนการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เรามาเริ่มต้นกับ Core Assets หรือสินทรัพย์หลักของเราก่อน เราจะกำหนดภาพใหญ่ด้วยสินทรัพย์หลักง่ายๆสองอย่างเท่านั้นคือ หุ้นและตราสารหนี้ ส่วนการลงมือปฏิบัติจะลงรายละเอียดปลีกย่อยแยกย่อยสินทรัพย์อย่างไรนั้น ก็ค่อยไปว่ากัน
**โดยมากการทำ Asset Allocation นั้นเรานิยมใช้กองทุนเป็นเครื่องมือ เพราะสะดวกต่อการปรับพอร์ตมากกว่า ลองคิดดูถ้าเราซื้อหุ้นเองรายตัวและเรามีอยู่ 20 ตัว ตอนเราปรับสัดส่วน เราจะขายเฉลี่ยทุกตัวตัวละ 10% ดีหรือจะเลือกตัดใจตัวใดตัวหนึ่งดีหล่ะ การใช้กองทุนจึงสะดวกกว่า แต่ในทางปฏิบัตินั้นก็แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละคนเลย

สูตร 100-Minus
สูตร 100-Minus คือสูตรที่ใช้คำนวณคร่าวๆพื้นๆว่าแต่ละช่วงอายุควรลงทุนในสัดส่วนเท่าไหร่ เช่น อายุ 30 (100-30) ก็แนะนำกันว่า ให้ลงทุน หุ้น 70: ตราสารหนี้ 30 หรือแผน 70/30 นั่นเอง หากเราอายุมากขึ้น อายุ 60 ก็ลงทุนด้วยแผน 40/60 เป็นต้น สูตรพวกนี้มันไม่ได้เหมาะกับทุกๆคนหรอกนะครับ แค่ว่าถ้าไม่รู้จะเริ่มยังไง ก็ลองใช้เป็นตัวตั้งแล้วปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เอาอีกที เอาแบบนี้ดีกว่า เอาสูตรอมตะพื้นฐานแล้วกัน 60/40 เป็นตัวตั้ง เหมาะกับทุกเพศทุกวัยเลยคือ หุ้น 60 ตราสารหนี้ 40 ให้มีสัดส่วนหุ้นกว่าเล็กน้ออย เพราะเงินเฟ้อมันจะลดค่าเงินเรานะครับ แล้วคุณผู้อ่านก็ไปปรับสัดส่วนเพิ่มลดเอาตามความเหมาะสมกันเอง สัดส่วนนี้มันออกแนวกลางๆไม่หนักไปทางใดทางหนึ่ง แต่ก็ยังอยากได้ผลตอบแทนที่ดีด้วย (เยอะเนอะ)

สูตร 60/40
สูตรนี้ในการปฏิบัติจริงทำได้ง่ายมาก เราอาจจะซื้อหุ้นเองทั้งหมด ซึ่งก็เลือกได้ว่าต้องการหุ้นสไตล์ไหน และส่วนตราสารหนี้ไม่ต้องพูดถึง โดยมากก็ทำผ่านกองทุนเสียเป็นส่วนใหญ่ หรือเราอาจจะซื้อกองทุนหุ้นและกองตราสารหนี้ก็ได้ ซึ่งก็แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย หรือแม้แต่ซื้อกองทุนที่มีการจัดสัดส่วน 60/40 ให้โดยปริยายอยู่แล้วก็ยังทำได้ครับ

สูตร 60/40 (2)
สูตรนี้เราอาจมีการผสมจัดทัพสินทรัพย์ย่อยเข้าไป เช่น
หุ้น 60 (กองหุ้น SET50 40, กองหุ้น Mid/Small Cap 20)
ตราสารหนี้ 40 (ตราสารหนี้ไทย 30, ตราสารหนี้ต่างประเทศ 10)

สูตร 80/20
สูตรนี้อาจจะเหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้มากและมีข้อมูลในการจัดพอร์ตที่มากพอ เช่น
หุ้น 80 (กองหุ้น SET50 30, กองหุ้น Global 30, กอง Global REIT 5, กองทองคำ 5)
ตราสารหนี้ 20 (ตราสารหนี้ไทย 10, ตราสารหนี้ต่างประเทศ 10)

สูตร Dynamic
สูตรนี้อาจจะใช้ในกรณีที่ต้องการจับจังหวะตลาด หากเป็นช่วงขาขึ้นของหุ้นก็อาจลงทุนในหุ้นถึง 90% เลยทีเดียว แต่หากเห็นว่าเป็นขาลงก็อาจเลือกที่จะไม่ถือหุ้นเลยแม้แต่ % เดียวก็ได้ กองทุนประเภทผสมแบบยึดหยุ่นก็ตกอยู่ในสูตรนี้ครับ แต่การกะเก็งตลาดนั้นทำได้ยากมากนะครับ

สูตร Total Return
สูตรนี้เน้นผสมผสานหลากหลายสินทรัพย์เผื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ในทุกสถานการณ์ (รายปี) ลักษณะการจัดพอร์ตแบบนี้เราเรียกได้อีกอย่างว่า Absolute Return ครับ บางคนยังเรียกพอร์ตชนิดนี้ว่าเป็น All Weather Portfolio คือทนได้ทุกสภาวะการณ์ แต่การจัดนั้นไม่ง่ายเลยครับ เท่าที่พอจะหาข้อมูลได้เขาจัดพอร์ตกันด้วยสินทรัพย์ที่แยกย่อยลงไปเยอะมาก บางคนใช้ Derivative Long/Short เข้ามาช่วยด้วยก็มี หรือใครจะใช้การจับจังหวะแบบสูตร Dynamic ก็ย่อมได้ ขอให้ผลลัพธ์เป็นบวกก็พอครับ กองทุนที่เป็น Total Return ในบ้านเราก็มีนะครับ มีทั้งที่เป็นการจัดพอร์ตเอง หรือเป็นแบบ Feeder Fund ก็มี เราอาจนำเอากองประเภท Total Return นี้ไปผสมในสูตรอย่างเช่น 60/40 พวกนั้นก็ได้นะครับ เพราะถ้ามันทำผลงานเป็นบวกได้ทุกปีจริง มันจะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตรวมเราได้มากทีเดียว

ทั้งหมดนี้ก็เป็นการยกตัวอย่างให้ดูนะครับ ย้ำอีกครั้ง เราจัดพอร์ตทำ Asset Allocation ก็เพื่อลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ในรายละเอียดการเลือกสินทรัพย์นั้น เรายังต้องทำการบ้านอีกเยอะ เพราะไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว

การ Rebalancing

การจัดพอร์ตนั้นว่าสำคัญแล้ว แต่การปรับสัดส่วนกับสำคัญกว่า เพราะเมื่อเวลาผ่านไปสินทรัพย์แต่ละประเภทนั้นทำผลงานได้แตกต่างกันไป หุ้นซึ่งทำผลงานได้ดี อาจทำให้พอร์ตของเราเปลี่ยนจาก 60/40 ไปเป็น 80/20 ก็ได้ ถามว่าไม่ดีหรือ ถ้าโดยรวมแล้วเรากำไรขึ้น คำตอบคือไม่ได้อยู่ที่กำไร มันอยู่ที่ความเสี่ยงที่บิดเบือนไปจากแผนการลงทุนที่วางไว้แต่แรกครับ ลองคิดดูว่าถ้าเราเจอปีที่แย่ติดๆกันหล่ะ เจ้าพอร์ต 80/20 ของเราจะเป็นอย่างไร อีกตัวอย่างหนึ่งที่อยากให้ลองคิดหากเราไม่ทำ Rebalancing สมมุติหุ้นตกหนักมากซึ่งทำให้สัดส่วนของหุ้นหดหายลงไปมาก แต่เรากลับไม่ได้ปรับเพิ่มให้กลับเข้าสู่สัดส่วนที่ตั้งใจไว้ เมื่อตลาดเกิดการ Rebound แน่นอนว่าเราก็จะได้ประโยชน์หรือทำกำไรกลับคืนจากการ Rebound ได้น้อยลงครับ สรุปแล้วการ Rebalancing ก็คือการปรับสัดส่วนให้กลับมายังสัดส่วนเดิมที่ตั้งใจไว้ ซึ่งก็เพื่อให้ความเสี่ยงมันอยู่ในระดับที่ควรจะเป็น ส่วนจะปรับเมื่อไหร่ ปรับถี่แค่ไหนนั้นก็มีอยู่สองแนวทางดังนี้

  • ปรับโดยการตั้งกำหนดการไว้ที่แน่นอน เช่น ปรับทุกไตรมาส ทุกครึ่งปี หรือทุกปีเป็นต้น แต่จากการศึกษาและวิจัยจากหลากหลายแห่งแล้วพบว่า การปรับถี่หรือบ่อยครั้งจนเกินไป ไม่ได้ช่วยให้ผลตอบแทนดีขึ้นเลย นอกจากนี้การปรับที่ถี่เกินไปก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย ข้อเสียของการปรับพอร์ตตามระยะเวลาแบบนี้คือ เมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนดไว้ สัดส่วนมีการเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยเท่านั้น เช่น 2% เราจะปรับพอร์ตเราหรือไม่ เป็นต้น งั้นเราไปลองดูอีกแนวทางหนึ่งกัน
  • ปรับด้วยค่า Threshold หรือสัดส่วนที่มันบิดเบือนไปถึง % ที่เรากำหนด เช่นเรากำหนดไว้ว่า ถ้าสัดส่วนมันเพิ่มหรือลดลงไป 10% จากที่ตั้งใจไว้ เราจะเริ่มทำ Rebalancing เป็นต้น การใช้แนวทางนี้เราต้องหมั่นดูพอร์ตของเรา ซึ่งจะว่าไปมันก็มีข้อเสียนะ เพราะมันอาจทำให้เราปรับพอร์ตเร็วเกินไปและไม่ถูกจังหวะกับตลาดก็เป็นได้

สรุปแล้วจะใช้แนวทางไหนก็แล้วแต่เห็นเหมาะสมกันเลย หรืออาจจะใช้แบบไฮบริดผสมกันก็ได้ เช่น อะไรถึงก่อน เป็นต้น ประสบการณ์จะบอกกับเราเองว่าแบบไหนดีที่สุดกับเรา

ภาคเสริม 1
หลายคนอาจสงสัยว่าการทำ Asset Allocation กับแนวทาง Value Investing (VI) แตกต่างกันไหม จะว่าไปก็คนละรูปแบบกันเลย การทำ Asset Allocation นั้นเราเน้นลดความเสี่ยงด้วยการกระจายสินทรัพย์เป็นหลัก และโดยมากก็นิยมใช้กองทุนเป็นเครื่องมือ ถ้าจะวิเคราะห์ก็เป็นการวิเคราะห์ Macro เป็นหลัก ว่าควรลงทุนสินทรัพย์อะไรในสถานการณ์นั้นๆดี ในขณะที่การลงทุนแนว VI เน้นเลือกหุ้นเป็นรายตัวและถือค่อนข้างน้อยตัว การเลือกหุ้นของ VI จะเลือกที่ราคายัง Undervalue อยู่ ซึ่งนักลงทุนแนวนี้จะต้องอดทนถือไปจนกว่ามันจะแสดงพลังของมันออกมา พื้นฐานไม่เปลี่ยน ราคาลงไปแค่ไหนก็ไม่หวั่นไหว ซื้อเพิ่มด้วยซ้ำไป การลงทุนแนว VI นั้นเวลากำไร กำไรกันเป็นเด้งๆเลย แต่ถ้าวิเคราะห์ผิดก็ เสียหายได้เยอะเช่นกัน ในขณะที่การทำ Asset Allocation สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีได้ไม่มาก เพราะมักซื้อสินทรัพย์ที่มีทิศทางการขึ้นลงที่ขัดแย้งกัน เสมือนเป็นการทำ Hedging อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเราจะผสมผสานสองแนวทางการลงทุนเข้าด้วยกันไม่ได้ เพราะในการทำ Asset Allocation ส่วนที่เป็นหุ้น เราอาจซื้อหุ้นเองโดยตรงและคัดเลือกหุ้นด้วยหลักการ VI ก็ได้ครับ

ภาคเสริม 2
ระดับความเสี่ยงของการจัดสัดส่วน Asset Allocation เป็นอย่างไร อันนี้ตอบยากเพราะขึ้นกับสินทรัพย์ย่อยภายในด้วย ซึ่งคงต้องมีการทำทดสอบกับข้อมูลจริงย้อนหลังถึงจะพอเห็นตัวเลขได้ อย่างไรก็ตามผมลองหยิบตัวอย่างกองทุนที่มีสัดส่วนการจัดพอร์ตแบบต่างๆมาเป็นแนวทางให้ดูกัน

สูตร 25/75 จากกองทุน SCBSMART2
หุ้นไม่เกิน 25% ผลตอบแทนที่ทำได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 3.3% ในขณะที่ค่าความผันผวนอยู่ที่ 2.5% (คือลงติดลบเฉลี่ยไม่เกิน -2.5%)
สูตร 40/60 จากกองทุน SCBSMART4
หุ้นไม่เกิน 40% และมีลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศด้วย ผลตอบแทนที่ทำได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 1.96% (กองยังใหม่อยู่) ในขณะที่ค่าความผันผวนอยู่ที่ 5.15%
สูตร Dynamic จากกองทุน B-FLEX
หุ้น 0-100% แต่จัดสรรแบบ Conservative ผลตอบแทนที่ทำได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4.74% ในขณะที่ค่าความผันผวนอยู่ที่ 3.44%
สูตร Total Return จากกองทุน Phatra SG-AA
กระจายทุกสินทรัพย์และทั่วโลก ผลตอบแทนที่ทำได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 5.05% ในขณะที่ค่าความผันผวนอยู่ที่ 0.18%
สูตร 75/25 จากกองทุน BLTF75
หุ้นไม่เกิน 75% ผลตอบแทนที่ทำได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 11.29% ในขณะที่ค่าความผันผวนอยู่ที่ 15.51%

น่าจะพอเห็นภาพบ้างนะครับ ^^

(ข้อมูล ณ เดือน ตุลาคม 2559)

ภาคเสริม 3

Strategic Asset Allocation VS Tactical Asset Allocation

Strategic Asset Allocation คือการวางแผนระยะยาวว่าจะกระจายสัดส่วนสินทรัพย์เท่าไหร่และอะไรบ้าง อาทิเช่น ใช้สูตร 80/20 และค่อยๆปรับลดตามอายุที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น จากนั้นก็ลงทุนตามแผนที่ได้วางไว้ โดยไม่ไปกะเก็งตลาด การทำ Rebalancing ก็จะทำตามความเหมาะสมหรือตามแผนที่วางไว้เช่นกัน ลักษณะก็คล้ายๆการ Buy and Hold ซึ่งโดยมากหากเราใช้กองทุนในการทำ Asset Allocation สินทรัพย์ภายในกองทุนก็มีผู้จัดการกองทุนคอยสลับสัปเปลี่ยนให้อยู่แล้ว การ Buy and Hold จึงเป็นการไม่กะเก็งตลาด ไม่สลับสับเปลี่ยนกองทุนไปมาบ่อยๆ เช่น เดี๋ยวเข้า Big Cap เดี๋ยวเข้า Low-Beta เป็นต้น

ในขณะที่ Tactical Asset Allocation จะใช้การจับจังหวะและสภาพการณ์ตลาดเข้ามาช่วย ปรับเปลี่ยนสินทรัพย์ย่อย หรือแม้แต่สัดส่วนสินทรัพย์รวม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและให้ผลการดำเนินงานออกมาดียิ่งขึ้น แต่โดยมากการทำ Tactical Shifting นี้จะไม่ทำจนสัดส่วนหลักที่วางแผนไว้ในระยะยาวบิดเบือนไป (อาจทำแค่ช่วงสั้นๆเมื่อมีกำไรก็ปรับกลับ) เช่น มีการวางแผนไว้ว่าจะลงทุนหุ้น/ตราสารหนี้ด้วยสูตร 60/40 แต่เห็นคาดการณ์ GDP ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยยะ ก็อาจปรับการลงทุนในหุ้นให้มากขึ้นเป็น 70/30 เป็นต้น หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อตลาดมีความผันผวนมาก เราอาจใช้วิธีการปรับเปลี่ยนสินทรัพย์ย่อย เช่นโยกจากกองทุน Mid/Small Cap ไปเป็น Low-Beta  แต่ยังคงสัดส่วนรวมหุ้นตราสารหนี้ที่เท่าเดิมก็ได้ เป็นต้น

สรุปแล้วการทำ Strategic Asset Allocation นั้นเน้นวางแผน เน้นภาพใหญ่ และไม่ไปกะเก็งตลาด ส่วน Tactical Asset Allocation เหมือนการนำเอา Strategic Asset Allocation มาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์และข้อมูลในช่วงสั้นๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ส่วนจะทำมากหรือน้อยก็อีกเรื่องหนึ่งครับ (ไม่ใช่ว่า Tactical จะดีกว่า Strategic เสมอไปนะครับ ไปดูผลงานกองทุนสองประเภทนี้เปรียบเทียบดูสิ อยู่ที่ฝีมือคนทำเล้ย ^^)

การจัดพอร์ตกองทุนแบบต่างๆ