Invest for Living IDEA

อ่ะแฮ่ม อ่ะแฮ่ม หน้านี้กระผมจะขอนำเสนอ “วิธีการลงทุนเพื่อเลี้ยงชีพ” ของกระผมให้ฟังนะครับ ก่อนอื่นเลยก็ต้องขอเกริ่นสรุปแนวคิดหรือ Mindset ที่ใช้ให้ตรงกันก่อน เผื่อจะได้รู้ว่าแนวทางนั้นตรงกันหรือไม่ และเพื่อที่ว่าจะได้ให้ทุกคนที่อ่าน เอาไปปรับใช้กันต่อไป
เริ่มแรกเลยผมแยกเงินออมและเงินลงทุนออกจากกันอย่างชัดเจน เงินออมต้องไม่ขาดทุน ส่วนเงินลงทุนย่อมขาดทุนได้เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นบัญชีธนาคารจึงแยกขาดออกจากกัน (บางคนมัดรวมท้้งหมดเป็นเหมือนพอร์ตโฟลิโอรวม และต้องมีการกันเงินไว้ใช้จ่ายสำรองฉุกเฉิน) ดังนั้นจึงสามารถลงทุนได้แบบ Aggressive เต็ม 100% ได้ในทุกช่วงเวลา
ถัดมาที่ต้องทำความเข้าใจคือ รูปแบบของผลตอบแทน ครับ ซึ่งผมแบ่งออกเป็นสองรูปแบบด้วยกัน (หรือเหมาะแก่คนสองกลุ่มเป้าหมายด้วยกัน) คือ 1) ผู้ที่มีรายได้ประจำทางอื่นอยู่แล้ว กลุ่มนี้แบ่งเงินออมมาลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงย ชนะเงินเฟ้อชนะเงินฝาก ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้เงินจากการลงทุนเพื่อเลี้ยงชีพ กลุ่มนี้ให้สนใจ NAV (Net Asset Value) คือดูว่าเงินลงทุนเราณราคาตลาดปิดเพิ่มลดเท่าไหร่แล้ว!! กลุ่มนี้มักทำผิดคือไปเน้นปันผล ปันผลมาไม่ได้ใช้ลำบากต้องไปหาที่ลงทุนอีก แถมปันแล้วราคาลงหนักกว่าเดิม ฮ่วย 2) ผู้ที่ใช้การลงทุนเป็นรายได้ประจำ คือไม่ได้ทำงานอะไร ต้องหารายได้จากการลงทุนนี่แหละ ดังนั้นกลุ่มนี้ต้องให้ความสำคัญกับ Cash Flow หรือกระแสเงินสด!!! ซึ่งผมตกอยู่ในกลุ่มนี้นะ กลุ่มนี้ไม่ได้สนใจใน NAV เท่าใดนัก สนใจแต่ว่าเราจะมีกระแสเงินสดให้ไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแทนเงินเดือนหรือไม่ ให้นึกว่าถ้าเราลงทุนอะไรสักอย่างแล้วมันจ่ายปันผลให้เราได้ทุกเดือน ราคา NAV จะบวกหรือติดลบจนแทบเป็นศูนย์เราก็ไม่สนใจจริงม่ะ (แต่มันมีจริงรึเปล่าหรือใช้วิธีอะไรนั่นอีกเรื่องนะ) หรือคิดกลับกันหุ้นขึ้นแล้วไงถ้าเราไม่ขาย เราจะเอาไรกิน ตัวเลขในบัญชีกินไม่ได้ คริ
ทีนี้เรารู้แล้วว่า กระแสเงินสด คือสิ่งที่เราโฟกัส เราก็มาดูว่าเราจะหากระแสเงินสดได้อย่างไร? มันก็มีอยู่สองช่องทางหลักๆคือ กำไรจากการขายและปันผลครับ ทีนี้ปัญหามันก็อยู่ที่ขนาดพอร์ต ถ้าพอร์ตเราใหญ่เช่น 10 ล้านปันผล 3.5% ปีๆนึงเราก็ได้ 350,000 หรือเดือนละ 29,000 บาทแล้ว แต่ถ้าพอร์ตเหลือแค่ล้านเดียวหล่ะ? เดือนละ 2,900 คงไม่พอใช้แน่ๆ ด้วยเหตุนี้คนที่พอร์ตเล็ก ก็เลยมักจะเน้นไปที่การซื้อๆขายๆหรือสไตล์ Trading ซะมากกว่า เช่น หุ้นขึ้น 3-5% ขาย ปีนึงทำได้สามครั้งพอร์ตหนึ่งล้านก็มีรายได้เป็นแสนแล้ว แต่มันมีความเสี่ยงที่จะทำไม่ได้ตามเป้าหน่ะสิ ทำได้ทุกคนทุกปี ไม่มีใครทำงานประจำแล้ว!!! สรุปว่าการหากระแสเงินสดมันมีอยู่สองสไตล์นะคือเป็น Investor หรือ Trader
แล้วผมใช้รูปแบบไหนในการสร้างพอร์ตหาเลี้ยงชีพ? ผมใช้แบบ Hybrid ที่เน้นไปทางลงทุนครับเพราะพอร์ตยังเล็ก เล็กจริงๆเล็กจนถ้าบอกเงินต้น คุณอาจแปลกใจว่ากล้ามาหาเลี้ยงชีพแบบนี้ได้อย่างไร ฮา (ไม่เป็นไร กินอยู่อย่างประหยัดไปก่อน บริษัทจัดการกองทุนของเราต้องเติบโตได้ในอนาคต^^) ทำไมพอร์ตเล็กแต่เน้นไปทาง Investor? เพราะผมต้องการความแน่นอน สามารถคำนวณได้ว่าผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่เราจะได้คือเท่าไหร่? พอหรือไม่ต่อการดำรงชีพครับ เพราะเราสามารถดูค่าเฉลี่ยระยะยาวย้อนหลังได้ว่า แต่ละสินทรัพย์ที่เราลงทุน ควรได้ผลตอบแทนต่อปีเท่าไหร่ แล้วเราก็ทำเป็น Benchmark หรือดัชนีชี้วัดได้ วิธีคิดเดี๋ยวบอกอีกทีนะ
เขียนไปเขียนมาชักยาว ตอนแรกตั้งใจแค่เกริ่นแล้วไปแสดงพอร์ตโฟลิโอเลย ฮา จะต่ออะไรนะลืม -.-” อ่อ วิธีสร้างพอร์ตของผมคือการทำ Asset Allocation ครับ เพื่อลดความเสี่ยงและความผันผวน โดยเน้นสร้างพอร์ตในลักษณะ Income Portfolio ที่เน้นกระแสเงินสด โดยพอร์ตของผมจะมีสินทรัพย์ 4 ชนิดหลักด้วยกันคือ ตราสารหนี้/ทางเลือก/หุ้นไทย/หุ้นนอก ในส่วนของหุ้นไทยเน้นซื้อหุ้นเองโดยตรงมีผสมกองทุนบ้างเล็กน้อย (เดี่ยวบอกขอดีข้อเสียอีกที) ตราสารหนี้/หุ้นนอกใช้กองทุนทั้งหมด ในส่วนของทางเลือกหลักๆคือทองคำ ดอลล่าร์ รีท รีทนี่ก็ซื้อเองตรงและใช้กองทุน อ่อ ในส่วนของหุ้นมีทั้งพอร์ตที่เน้นลงทุนยาวและพอร์ตเก็งกำไร (แต่เป็นส่วนน้อย)
ตัวอย่างวิธีคำนวณผลตอบแทน เรียกว่า Benchmark หรือดัชนีชี้วัด เช่น
ผลตอบแทนตราสารหนี้ 2%
ผลตอบแทนทางเลือก 7%
ผลตอบแทนหุ้นไทย 10%
ผลตอบแทนหุ้นนอก 10%
ถ้าเราลงอย่างละ 25% เท่าๆกัน เราจะได้ผลตอบแทนรวมของพอร์ตเท่ากับ 7.25% ต่อปี หรือถ้าเราลงทุนไป 1ล้าน เราจะได้เงินปีละ 72,500 บาท ย้ำอีกทีนะ เรากระจายก็เพื่อลดความผันผวน แม้หุ้นไทยหรือหุ้นนอกจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 10% เท่ากัน แต่บางปีไทยดีต่างประเทศแย่ บางปีไทยแย่แต่ต่างประเทศดี การผสมมันทำให้ผลตอบแทนมันผันผวนน้อยกว่าครับ แต่ว่าไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงมันลดลงเลย เพราะหุ้นยังไงก็คือหุ้น เวลาวิกฤตมา หุ้นก็เททั้งโลก ดังนั้นเราจึงกระจายไปยังสินทรัพย์อื่นนั่นเอง และเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้มีค่าความสัมพันธ์ (Correlation) กับหุ้นมากนัก เช่น ตราสารหนี้ ทองคำ รีท แปลว่าหุ้นขึ้น มันอาจจะตกก็ได้ ในอดีต ตราสารหนี้ก็มักจะดีเมื่อยามหุ้นเละเทะ แต่ปัจจุบันก็ไม่แน่แล้ว 55 ดูปี 2018 สิ เททุกสินทรัพย์ยกเว้นแค่ ดอลล่าร์ แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการขึ้นลงก็ไม่รุนแรงเท่ากัน ยังไงก็ช่วยได้ไม่มากก็น้อยครับ (ตราบใดที่ NAV เรายังดี โอกาสเราก็ยังดีตามไปด้วยนะ) ส่วนเราจะวางสัดส่วนเท่าไหร่ ก็ดูว่าเราพอใจในผลตอบแทนเฉลี่ยไหม จะต้องปรับเพิ่มหรือลดอะไร ซึ่งถ้าแม้แต่ลงหุ้น 100% แล้วผลตอบแทนยังไม่พอกิน ก็ต้องเพิ่มขนาดพอร์ตเป็นต้น และเราก็สามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนไปตามสถานการณ์ของแต่ละปีได้เช่นกัน
สำหรับย่อหน้านี้จะมาพูดถึงวิธีการดึงเงินออกจากพอร์ตไปใช้ พอร์ตผมจะมีรายได้เป็นปีนะครับ ไม่ใช่เป็นเดือน แปลว่าเราพูดกันที่ รายได้กี่k/ปี สมมุติพอร์ตเราสร้างรายได้ 120k/ปี เราก็มีเงินใช้เดือนละ 10k นั่นเอง และผมจะหาปีนี้ใช้ปีหน้าครับ!!! ในระหว่างปีมีขายทำกำไรมีปันผลรับมาเท่าไหร่ เอาไปแยกใส่ไว้ในกองทุนตลาดเงินครับ ไม่ Re-invest พอสิ้นปีก็ถอนทีเดียวเลย แปลว่าปีหน้าทั้งปีเราไม่ต้องมาพะวงว่าแต่ละเดือนเราจะทำได้เข้าเป้าไหม จะมีกำไรไหมครับ แต่ช้าก่อน บางปีตลาดมันก็ไม่ดีไม่ใช่หรือ ถ้าปีนี้ไม่ดีขาดทุน ปีหน้าเอาอะไรใช้ อย่างที่บอกผมใช้ตัวชี้วัดแบบค่าเฉลี่ย ซึ่งโดยมากถ้าตลาดหุ้นปีไหนดี อีกปีมักไม่ดี หรือปีไหนไม่ดี อีกปีมักดีมาก แปลว่าผลตอบแทนเฉลี่ยที่เราตั้งไว้เช่น 120k เอาเข้าจริงๆบางปีเราได้ -50k อีกปีเราอาจได้ 290k ซึ่งเมื่อรวมกันหารสองก็ตกปีละ 120k นั่นเอง ดูแบบนี้อาจเยอะจนเหมือนไม่สามารถเป็นจริง แต่ให้นึกเป็น % ครับ บางปีหุ้นตก -5% บางปีหุ้น +20% เลยก็มี ของเหล่านี้ไปหาดูสถิตย้อนหลังได้ ดังนั้นหากปีไหนเราทำรายได้มากกว่าดัชนีชีวัด เราก็ควรถอนเงินออกมาเท่าดัชนีชี้วัดของพอร์ตเราเท่านั้น เพราะมันจะต้องเอาไปโป๊ะอีกปี แต่หากโชคดีเป็นเทรนด์ขาขึ้นหลายๆปีติดต่อกัน นั่นคือกำไรส่วนเกินสะสมที่จะนำมา Re-invest หรือสำรองยามฉุกเฉินได้ สรุปแล้วถ้าจะให้พอร์ตเราสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ เราควรให้พอร์ตรันไปก่อนสัก 2-3 ปี ก่อนที่จะเริ่มถอนเงินมาใช้จริงนะ หนึ่งเลยเราจะเห็นค่าเฉลี่ยที่เราทำได้จริง และเหมือนเรามีบัฟเฟอร์รองรับปีที่ไม่ดีติดต่อกัน 2 ปีได้สบายๆ (คือให้พอร์ตมันเริ่มมีกำไรสะสมก่อนหน่ะ)
รายละเอียดการลงทุนของผม จากนี้จะลงรายละเอียดว่าพอร์ตรวมลงทุนอะไรไปบ้างแล้วใช้แนวคิดอะไรในแต่ละส่วนครับ
ตราสารหนี้: กองทุน (เน้นที่ในไทย) เน้นเพื่อใช้ปรับ Re-balancing
ทางเลือก: กองทอง พอร์ตหุ้นรีท (พอร์ตแม่ไก่) กองรีท กองดอลล่าร์
หุ้นนอก: กองทุน (เน้นหุ้นโลก เน้นกองที่มีปันผล)
หุ้นไทย: พอร์ตหุ้น (พอร์ตให้เงินทำงานและพอร์ตเทรดดิ้ง) กองทุน (เน้นที่มีปันผล)
เริ่มที่พอร์ตแม่ไก่ก่อนแล้วกัน อันนี้ผมสร้างขึ้นมาเหมือนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เลย คือทั้งพอร์ตมีแต่หุ้นรีท อินฟราฟัน (และอาจมีผสมหุ้นปันผลสูงๆบ้างเล็กน้อย) ข้อดีคือ เราได้ปันผลตรง หุ้นรีทตัวเล็กๆเราก็ซื้อได้ แต่กองทุนรวมอาจซื้อไม่ได้เพราะไม่มีสภาพคล่อง การที่เราได้เงินปันผลเร็ว เราก็ต่อยอดได้เร็ว (บางทีจังหวะแพนิคผมก็เอาปันผลมา Re-invest แต่พอตลาดรีบาวด์ผมก็ขายคืน) การที่เราได้ปันผลเร็ว เราเอามาฝากต่อก็ได้ดอกเบี้ยต่อทันที พอร์ตนี้ถือเป็นแกนหลักสำคัญของการสร้างอินคัมเลย เลยตั้งชื่อว่า พอร์ตแม่ไก่ เพราะออกไข่ทุกสามเดือน พอร์ตนี้แทบจะไม่สนใจ NAV เลย เพราะเน้นแต่การสร้างกระแสเงินสด แต่หุ้นที่ซื้อต้องมีคุณภาพที่ดีนะครับ บางตัวให้ปันผลน้อยแต่มีความมั่งคงสูงก็ซื้อเยอะ ไม่ใช่ดูแต่อัตราปันผลอย่างเดียว ที่นี้การสร้างพอร์ตเองมันมีข้อจำกัดคือไปซื้อกองรีทต่างประเทศไม่ได้ ทำให้เสียโอกาส จึงมีลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศด้วย
ทองคำกับอดลล่าร์ เน้นที่การทำ Hedging นะครับ ไม่ได้เก็งกำไรสั้นๆอะไรเลย
พูดถึงพอร์ตหุ้นบ้าง หลักๆเลยคือ พอร์ตให้เงินทำงาน พอร์ตนี้จะว่าไปก็เหมือนซื้อกองทุนอย่างไงอย่างงั้น เพราะมีหุ้น 30+ ตัว (แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 20 แล้ว) เนื่องจากใช้การจัดพอร์ตแบบ Relative-index Return คือให้มันล้อไปกับตลาด อันที่จริงผมเคยเขียนบทความเรื่องนี้ไปแล้วนะ สรุปสั้นๆเลยละกันว่า เราใช้สมมุติฐานที่ว่า หุ้นคือสินทรัพย์ที่ดีในระยะยาว และผลตอบแทนที่ตลาดให้อยู่ในระดับที่เราพอใจ การลงทุนตลาดมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการลงทุนหุ้นเพียงไม่กี่ตัว เพราะหุ้นอาจล้มละลายได้ แต่ตลาดโอกาสเป็นศูนย์ยาก ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมไม่ซื้อกองทุนดัชนีไปเลย ก็เพราะว่าเราต้องการเป็น Active Fund คือเราอยากได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดและยืดหยุ่นกว่าตลาด ดัชนีอย่าง set50 ก็มีหุ้นที่ผันผวนที่เราสามารถนำมันออกได้ เราสามารถถือเงินสดในบางเวลาได้ เป็นต้น ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการจัดหุ้นเองคือ เราได้ปันผลแน่ๆทุกปี ไม่ว่าราคาหุ้นจะขึ้นจะลง มันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจ่ายปันผลเลย เพราะปันผลมันขึ้นอยู่กับผลประกอบการ ถ้ากิจการไม่ขาดทุน ยังไงเราก็ได้ปันผล ส่วนมากน้อยอีกเรื่อง แต่กองทุนมักไม่จ่ายหากปีนั้นหุ้นตก พอร์ตนี้ผมเน้นไปที่คุณภาพกิจการ ไม่ได้เน้นที่ปันผล ความถูกแพงของราคาก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะเหมือนเราซื้อกองทุน เราก็ได้หุ้นที่บางตัวถูกบางตัวแพงจริงไหม? เน้น buy and hold คอยติดตามดูกิจการไม่ใช่ราคา Stay Invest แล้วโตไปกับกิจการ นี่แหละถึงตั้งชื่อว่า พอร์ตให้เงินทำงาน^^ อ่อ ถ้าอยากได้ปันผล ผมก็ไปเพิ่มเงินลงทุนในพอร์ตแม่ไก่เอาครับ การเปลี่ยนตัวหุ้นหรือการขายทำกำไร จะไม่นำเงินออกมา แต่จะลงทุนต่อในส่วนนี้ เพราะระยะยาวเมื่อพอร์ตโต ปันผลก็โตตามครับ ผมเคยเขียนบทความเอาสถิติตลาดมาให้ดูแล้ว ตลาดเราปันผลที่ 3% มาตลอด ตอน 900 จุดก็ปันผล 3% ตอน 1600 ก็ปันผล 3% ดังนั้นถ้าพอร์ตโต แม้อัตราปันผลเท่าเดิม แต่เราก้ได้มากขึ้นนะ
แต่ข้อเสียของการจัดพอร์ตหุ้นเองก็มีนะ คือเรื่องกระแสเงินสดจาก Capital Gained เช่นว่าปีนี้พอร์ตเราโต 10% เราอยากถอนเงินออกมาสัก 7% แต่มันทำยาก เพราะเราต้องขายทุกตัวตัวละ 7% มันทำได้ยาก ถ้าพอร์ตเราเล็ก หุ้นบางตัวตัวละ 500 เราซื้อขั้นต่ำไว้ 100 ตัวก็ 50000 บาทเข้าไปแล้ว ครั้นจะแบ่งขายแต่กำไร 7% มันทำไม่ได้ เขาขายกันล็อตละ 100 หุ้น แล้วพอร์ตรวมเราโต 10% ก็ใช่ว่าทุกตัวจะกำไร บางตัวมันยังขาดทุนอยู่ เราก็ไม่อยากขายแล้ว นี่แหละข้อเสียของการจัดพอร์ตเองและพอร์ตมีขนาดเล็ก แต่ถ้าเป็นการซื้อกองทุน เราสามารถสั่งขายได้เท่าที่เราต้องการเลย ปีไหนขึ้นมาเท่าไหร่ ท้ายปีเราสามารถสั่งขายได้ตามที่เราต้องการเลย หรือเราจะไปลงในกองทุนที่จ่ายปันผลเกือบ 100% ของกำไรก็ได้เช่นกัน (แม้ผลงานมันมักจะเห่ย ฮา) นอกจากนี้ผมยังใช้กองทุนในแง่ของการลดเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยด้วย เพราะพอร์ตให้เงินทำงานนี่แทบจะลงเต็มวงเงินตลอดเวลา
สุดท้ายพอร์ตเทรดดิ้ง ตามชื่อเลย มีกำไรพอใจก็ขาย เพราะขนาดพอร์ตรวมการลงทุนไม่ใหญ่ การจะสร้างกระแสเงินสดจากปันผลเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพจากการซื้อๆขายๆบ้าง แต่ที่แยกพอร์ตออกมาก็เพื่อการวัดผล หากเห็นว่าฝีมือเราห่วยแตก ยิ่งทำยิ่งเละ เราก็ลดสัดส่วนตรงนี้ลงก็เท่านั้นเอง หากไปได้ดีก็เพิ่มน้ำหนักนะ อ่อ พวกกองทุนต่างประเทศก็มีบ้างนะที่ซื้อๆขายๆแต่เป็นส่วนน้อยครับ
สรุปแล้วการลงทุนเพื่อการเลี้ยงชีพของกระผมก็ประมาณนี้แหละครับ อันที่จริงผมตั้งใจจะแสดงเป็นตารางการลงทุนและผลตอบแทนแบบ Tracking เป็นแบบไดอารี่ แต่เกริ่นซะจนหมดพื้นที่เขียนไม่ไหวแล้ว จาก Diary ก็เลยกลายเป็น IDEA ไปซะอย่างงั้น 2คริ ไว้โอกาสหน้าแล้วกัน ไว้ไปแต่งบัญชีให้สวยๆก่อน (กลางปียังดูท็อปฟอร์ม ปลายปีชักไม่สวยแระ) แล้วค่อยมาลงตารางอัพเดทชีวิตนักลงพุงให้ดูอีกทีเด้อ
—
ปูลู ผมลงทุนมาไม่นานนะครับ เริ่มซื้อหุ้นซื้อกองทุนตอนปี 2014 และเริ่มมีความคิดที่จะใช้พอร์ตนี้เลี้ยงชีพตอนต้นปี 2019 เท่านั้น (แต่จดสถิติมาก่อนหน้าแล้วหลายปี) แต่ละคนมีเงื่อนไขชีวิตไม่เท่ากัน ผมไม่มีเงินออม เพราะนำเงินมาลงทุนหมด แต่ผมก็ไม่มีหนี้ มีบ้านที่ไม่ต้องเช่า ดังนั้นแต่ละคนต้นทุนชีวิตไม่เหมือนกันจะทำก็อปปี้เหมือนกันแบบตรงๆไม่ได้ แล้ววันนึงพอร์ตผมอาจล้มเหลว จนต้องไปหางานอื่นทำก็เป็นได้ครับ (อย่าอ่านแล้วเคลิ้มโลกสวยนะ)
ปูลู 2 ผมมีกันเงินไว้ใช้ 3 ปีก่อนที่จะเริ่มถอนเงินจากพอร์ตนะครับ แปลว่ามีเวลา 3 ปีที่จะรันพอร์ตให้สมูท
ปูลู 3 อ่าวลืมบอก กองทุนของผมมีชื่อว่า กองตุ๋นเบลี่ (Par 100 บาท) นะครับ ไม่มีขาย ไม่ต้องไปหาซื้อ 3คริ^^
ปูลู 4 การลงทุนลักษณะนี้ก็เหมือนการประกอบกิจการอย่างหนึ่ง สิ่งที่สำคัญคือความรู้ ถ้าเราไม่รู้ก็อย่าลงทุนครับ แม้แต่กองทุน ไม่รู้ก็อย่าซื้อ!! เหมือนเราอยากเปิดอู่ซ่อมรถ แต่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับรถ เปิดไปก็เจ้ง จ้างคนก็โดนเขาโกงครับ เชื่อผม (ไม่รู้ก็ออมเงินไปเหอะ)
ปูลู 5 อ่ะอ้าว ลืมเขียน ผลตอบแทนรวมของพอร์ต ในการใช้งานจริงผมแยกคิดว่ามาจากปันผลเท่าไหร่ด้วยนะ จะได้รู้ว่าถ้าเอาแต่ปันผลมาใช้ มันเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพไหม ถ้าไม่ก็ต้องมีขายทำกำไรและถอนมาเก็บบ้าง และต้องทำมากแค่ไหนครับ ^^