Relative VS Absolute Portfolios

วันนี้ครึ้มอกครึ้มใจอยากบ่นเรื่องการจัดพอร์ตแบบ Relative เทียบกับแบบ Absolute นะ โดยปกติแล้ว การจัดพอร์ตโดยยึดเอา Performance เป็นที่ตั้ง ก็น่าจะแบ่งได้เป็นสองประเภทคือ

  • พอร์ตแบบ Absolute หรือ Total Return คือให้ผลตอบแทนเป็นบวกเสมอ เช่น เป็นบวกในทุกๆปี หรือ บวกในทุกๆไตรมาส เป็นต้น พอร์ตแบบนี้เวลาสถานการณ์ไม่ดี ก็ยังเป็นบวกได้ แม้จะไม่มากก็ตาม แต่เวลาตลาดกระทิง ก็มักจะทำผลตอบแทนได้น้อย
  • พอร์ตแบบ Relative ซึ่งเป็นพอร์ตที่จะอ้างอิงหรือวัดผลด้วยดัชนีชี้วัด อาทิเช่น กองทุนรวมหุ้นทั่วไป ที่มักจะเอา SET/SET50 เป็นตัวอ้างอิง เป็นต้น พอร์ตลักษณะนี้จะสอดคล้องไปกับตลาด ตลาดขึ้นก็ขึ้นด้วย ตลาดลงก็ลงตาม ส่วนจะมากน้อยก็แล้วฝีมือคนจัดพอร์ต บางปีตลาดติดลบ 20% แต่พอร์ตนี้ลบเพียงแค่ 10% แค่นี้ก็โม้ได้แล้ว

จะเห็นว่าการจัดพอร์ตทั้งสองแบบนั้นแตกต่างกันอย่างมาก ในช่วงตลาดหมี พอร์ตแบบ Absolute ก็กินอิ่มนอนหลับสบาย แต่พอร์ต Relative ก็เซ็งไปตามๆกัน ในทางตรงกันข้ามหากตลาดเป็นกระทิง พอร์ตแบบ Relative ก็กระดี้กระด้ามาก พอร์ตแบบ Absolute ก็ได้แต่มองตาปริบๆ

จะว่าไปแล้ว เราๆท่านๆรายย่อยทั้งหลายก็มักจะจัดพอร์ตแบบ Absolute กัน คือจะเอาแต่พอร์ตเป็นบวก แม้ในยามหมีก็จะเอาบวก ในยามกระทิงก็อยากบวกเยอะๆ แล้วมันทำกันได้กี่คน? ส่วนใหญ่ที่เห็นก็มีแต่ติดลบทุกภาวะการณ์ T^T (แถวนี้มีคนนึง) เพราะในความเป็นจริง การจะทำพอร์ตแบบ Absolute นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เราอาจใช้การทำ Asset Allocation แต่นั่นหมายถึงเราต้องกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศด้วย และยังต้องกระจายประเภทสินทรัพย์อีก คนใช้กองทุนเพียวๆจัดพอร์ตก็สบายไป ใครเล่นหุ้นผสมกองทุนก็บวกเลขกันเองจนเบื่อกันไปเลย แต่ก็อีกนั่นแหละ ไม่ใช่ง่ายๆอีกเหมือนกัน กระจายผิดก็เหมือนโดนกินครบวงจร ฮือ บางคนใช้การ Short เข้าช่วย แต่ถ้าพอร์ตเล็กๆก็ไม่น่าไหวนะ ดูจะไม่คุ้มเอา

แล้วเราเคยสังเกตไหมว่า ระยะยาวแล้วเรามักแพ้กองทุน (เอาคนส่วนใหญ่นะ) ทั้งๆที่เรารู้สึกเหมือนช่วงสั้นๆกองทุนผลงานไม่ค่อยจะดี บางทีรู้สึกเหมือนพี่กองเอาเงินไปทำอะไรฟร่ะครับ ทั้งนี้เพราะเขาเล่นไปตามตลาดไง หรือจัดพอร์ตแบบ Relative ตลาดไปทางไหนก็เฮไปทางนั้น แต่แต่แต่ แต่เนื่องจากในระยะยาวตลาดหุ้นก็ยังเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีมากๆ เมื่อหักลบกลบปีที่ตลาดหมีแล้ว ยังไงผลตอบแทนมันก็ยังดีมากอยู่นั่นเอง นี่จีงเป็นที่มาของหลายๆสำนักที่วิจัยออกมาว่า กองทุนแบบ Relative Passive-based ดีที่สุด คือกองทุนที่เอาผลงานเท่าตลาดเป๊ะ เพราะพวก Relative Active-based ที่พยายามชนะตลาด มีเพียงส่วนไม่เยอะที่ชนะจริงๆ

เอาหล่ะ แล้วเราจะมาปรับใช้ยังไงกับการจัดพอร์ตของเรา เราก็จัดให้มันล้อไปกับตลาดสิ🙂 วิธีการนี้มันต่างกับการ Selective Buy and Hold นะ เพราะวิธีการนั้นมันเลือกผู้ชนะออกมา แล้วถือไปจนมันแสดงแสนยานุภาพของมัน (ก็เหมือนกับหลักการของ VI นั่นแหละ เลือกมาดี ภาวะตลาดแทบไม่มีผลต่อพอร์ต) แต่ถ้าเราเลือกผิดก็ไม่อยากจะคิดเหมือนกัน ดังนั้นเราอาจใช้วิธีกระจายตัวหุ้นและกลุ่มอุตสาหกรรมให้มากเพียงพอที่จะขึ้นลงล้อไปกับตลาดได้ และก็ Buy and Hold หลายคนอาจบอกว่าการกระจายมากไป เวลาหนีตายขายไม่ทันทำไง ก็บอกแล้วไม่ขาย จะถือยาวโตไปกับตลาด ช้าแบบเต่าแต่เข้าเส้นชัย แล้วอย่างนั้นเราไปซื้อกองทุนไปเลยไม่ดีกว่าหรือ ก็ได้นะ แต่การจัดเองก็สนุกด้วยและเราสามารถดัดแปลงให้ถูกใจเราได้ด้วย เช่น ออกแบบให้ได้ปันผลสูงหน่อย (ยามหุ้นตกเราก็ได้ปันผล ไม่เหมือนกองทุนที่ตลาดหมี หายวับเงียบกริบ เอวัง) เป็นต้น รวมทั้งเราสามารถซื้อขายทำกำไรบ้างเพื่อเพิ่มประสิทธิ์ภาพระหว่างทางได้

ปูลู เราอาจใช้การจัดพอร์ตเองร่วมกับกองทุนด้วยก็ได้ ของแบบนี้ไม่มีอะไรตายตัวครับ

ปูลู บ่นๆเรื่องนี้เพราะอยากให้เข้าใจประเภทกองทุนด้วย เพื่อการเลือกซื้อกองทุนจะได้เลือกให้เหมาะสไตล์ของตนเองครับ