- หุ้นคืออะไร
- การเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น
- ประเภทบัญชีซื้อขายหุ้น
- ช่วงเวลาซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์
- ผลตอบแทนจากหุ้น
- รูปแบบการวิเคราะห์ราคาหุ้น (พื้นฐาน/เทคนิค)
- เริ่มต้นค้นหาหุ้น
- แนวทางการวิเคราะห์หุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐาน
- การวิเคราะห์หุ้นด้วยตัวเลขทางการเงิน
- ว่าด้วยเรื่องปันผล
- กลุ่มนักลงทุนในตลาดหุ้น
- ข้อมูลหุ้นจาก IAA Consensus
หุ้นคืออะไร
หุ้น (หุ้นสามัญ หรือ Common Stock) คือหน่วยแสดงความเป็นเจ้าของในบริษัทหรือกิจการใดกิจการหนึ่งตามสัดส่วนหุ้นที่เราถืออยู่ ดังนั้นหากเราต้องการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของบริษัทใด เราก็ต้องทำการซื้อหุ้นของบริษัทนั้นๆ แล้วเราจะไปซื้อหุ้นบริษัทได้ที่ไหนหล่ะ? คงเป็นการยากนะครับที่เราจะเดินเข้าไปที่บริษัทใดๆก็ตามแล้วขอซื้อหุ้นเขา อาจโดนพี่ๆรปภ.หิ้วออกมาได้ โชคดีที่เรามีหน่วยงานอย่างตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นช่องทางการซื้อขายหุ้นของบริษัทต่างๆ ดังนั้นบริษัทที่ประสงค์จะเปิดการซื้อขายหุ้นกับให้ประชาชนทั่วไปจึงเข้ามาจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง 🙂
ในปัจจุบันประเทศไทยเรามีอยู่สองตลาดด้วยกันคือ i) SET สำหรับบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ และ ii) MAI สำหรับบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก แม้ว่าจะมีสองตลาดแต่เมื่อเราเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นแล้ว เราสามารถซื้อขายหุ้นทั้งสองตลาดได้ในบัญชีเดียวกัน
การเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น
ก่อนจะทำการซื้อขายหุ้นได้นั้น เราต้องเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นก่อน โดยการเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์นั่นเอง สำหรับรายชื่อโบรกเกอร์สามารถดูได้ ที่นี่เลย ในปัจจุบันการติดต่อขอเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์นั้นมีความสะดวกมาก เนื่องจากธนาคารต่างๆก็ประกอบกิจการโบรกเกอร์ด้วยเช่นกัน ทำให้เราสามารถเดินเข้าไปในธนาคารเพื่อขอเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นได้เลย นอกจากนี้โบรกเกอร์หลายๆแห่งยังมีบริการเปิดบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย เพียงเข้าไปกรอกข้อมูลและทำตามขั้นตอนที่แจ้งไว้ในหน้าเว็บเท่านั้น ส่วนเราจะเลือกโบรกเกอร์ใดนั้นมีข้อให้พิจารณาดังนี้
- เป็นโบรกเกอร์ที่มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ กล่าวคือจะไม่ล้มหายตายจากไปง่ายๆ เพราะเงินที่เรามีอยู่กับโบรกเกอร์นั้น ก็อาจไม่ได้รับคืนมา อย่างไรก็ตามหุ้นที่เราซื้อไปแล้วนั้น จะยังคงอยู่เป็นสิทธิ์ของเราอยู่ เพราะโบรกเกอร์ทำหน้าที่แค่เป็นนายหน้าซื้อขายหุ้นเท่านั้น
- มีบทวิเคราะห์หุ้นหรือข้อมูลหุ้นให้เรามากน้อยเพียงใด รวมทั้งมีโปรแกรมช่วยวิเคราะห์หุ้นให้เราใช้หรือไม่ ข้อนี้คงจะต้องสอบถามจากผู้ที่เคยใช้บริการโบรกเกอร์รายนั้นๆมาก่อนว่าดีหรือไม่
- มีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำในการสั่งซื้อหุ้นหรือไม่ ในกรณีที่เรามีเงินลงทุนน้อย เราอาจสั่งซื้อหุ้นครั้งละไม่มาก ซึ่งอาจไม่ถึงจำนวนเงินขั้นต่ำต่อวันที่โบรกเกอร์กำหนด เราจึงต้องเสียค่านายหน้าหรือค่าคอม (Commission) ขั้นต่ำ เช่น สั่งซื้อหุ้น 5,000 บาท ซึ่งไม่ถึงกำหนดจำนวนขั้นต่ำต่อวันที่ 20,000 บาท ก็ต้องจ่ายค่าคอม 50 บาท โบรกไหนไม่มีกำหนดขั้นต่ำ เราก็จ่ายตามจริง ซึ่งไม่ถึง 50 บาทแน่นอน เป็นต้น ดังนั้นหากเงินลงทุนไม่มากก็อาจเลือกโบรกเกอร์ที่ไม่มีค่านายขั้นต่ำครับ
สำหรับเอกสารที่ใช้ในการเปิดบัญชีนั้น โดยมากก็มีดังต่อไปนี้
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน (บางกรณีก็ไม่ต้อง)
- สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน (บัญชีย่อยบางประเภทก็ไม่ต้องใช้)
- เอกสารที่ต้องกรอก จากทางโบรกเกอร์
ประเภทบัญชีซื้อขายหุ้น
บัญชีซื้อขายหุ้นมีสองแบบหลักๆ คือ i) Cash และ ii) Cash Balance
บัญชี Cash เป็นบัญชีสั่งซื้อหุ้นก่อน จ่ายเงินทีหลัง สั่งซื้อได้ตามวงเงินที่เราได้รับ ยกตัวอย่างเช่น เราได้วงเงิน 500,000 บาท เราก็สามารถสั่งซื้อหุ้นได้ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อหุ้นที่เราสั่งซื้อ ถูกจับคู่ได้แล้ว เราจะต้องจ่ายเงินภายในเวลา T+3 กล่าวคือภายใน 3 วันทำการให้หลัง เมื่อเราจ่ายเงินแล้ว วงเงินก็จะกลับคืนมา
บัญชี Cash Balance เป็นบัญชีแบบเติมเงิน เติมเงินก่อนถึงสั่งซื้อหุ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น เราโอนเงินเข้าบัญชี 50,000 บาท เราก็สั่งซื้อหุ้นได้ 50,000 บาท เป็นต้น
ช่วงเวลาซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์
ในแต่ละวันตลาดแบ่งเวลาซื้อขายออกเป็นช่วงเวลาดังต่อไปนี้
- Pre-opening 1: 9.30-10.00 ในช่วงนี้เราสามารถส่งคำสั่งซื้อขายเข้าไปรอในระบบได้ก่อน และเราสามารถดูราคาที่ผู้อื่นส่งเข้ามาได้ด้วยเช่นกัน (ผ่านโปรแกรม Streaming)
- ช่วงซื้อขายภาคเช้า: 10.00-12.30 ในแต่ละวันเวลาเปิดจะไม่แน่นอน โดยตลาดจะใช้การสุ่มเปิดในช่วง 9.55-10.00
- พักเที่ยง: 12.30-14.00
- Pre-opening 2: 14.00-14.30 ในช่วงเวลานี้เราสามารถส่งคำสั่งซื้อขายเข้าไปรอในระบบได้ก่อน และเราสามารถดูราคาที่ผู้อื่นส่งเข้ามาได้ด้วยเช่นกัน (ผ่านโปรแกรม Streaming)
- ช่วงซื้อขายภาคบ่าย: 14.30-16.30 เวลาเปิดของภาคบ่ายจะไม่แน่นอนเช่นกัน โดยตลาดจะใช้การสุ่มเปิดในช่วง 14.25-14.30
- ช่วง Call Market: 16.30-16.40 ช่วงนี้เป็นช่วงที่ตลาดจะคำนวณหาราคาปิด ซึ่งไม่สามารถส่งคำสั่งได้ และตลาดจะสุ่มเวลาปิด
สรุปแล้วช่วงเวลาที่เราซื้อขายกันหลักๆก็คือ ช่วงเช้า 10.00-12.30 และช่วงบ่าย 14.30-16.30 ครับ
ผลตอบแทนจากหุ้น
ผลตอนแทนจากการซื้อหุ้นนั้นมีอยู่ 2 รูปแบบด้วยกันคือ i) ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล (Dividend) และ ii) ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา (Capital Gain)
เมื่อเราซื้อหุ้นจากบริษัทใดๆ เราก็มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในบริษัทนั้นๆ ดังนั้นหากบริษัทมีกำไร บริษัทก็จ่ายกำไรออกมาให้กับผู้ถือหุ้นในรูปปันผลนั่นเอง โดยมากบริษัทจะจ่ายปันผลให้ปีละ 1-2 ครั้ง ตามแต่ละนโยบายของบริษัทนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A กำไรตกหุ้นละ 5 บาท และมีนโยบายที่จะจ่าย 60% ในปีนี้ เราก็จะได้ปันผลก่อนหักภาษีเป็นเงินหุ้นละ 3 บาท เป็นต้น
สำหรับผลตอบแทนในรูป Capital Gain นั้นก็คือ การที่เราซื้อหุ้นมาแล้วราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเราขายเราก็จะได้กำไรจากส่วนต่างของราคานั้นนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น เราซื้อหุ้น A มาตัวละ 100 บาท ผ่านไป 2 ปี ราคาหุ้น A ซื้อขายกันที่ 140 บาท อาจเนื่องมาจากกำไรขอบริษัทที่ดีขึ้น ถ้าเราขายหุ้นเองไป เราก็จะได้กำไร 40 บาท เป็นต้น
ส่วนการจะวิเคราะห์ว่าหุ้นตัวใดว่าควรซื้อที่ราคาไหนแล้วจะขายได้กำไร Capital Gains นั้น ในหัวข้อถัดไปเราจะมาดูรูปแบบการวิเคาระห์หุ้นกัน
รูปแบบการวิเคาระห์ราคาหุ้น (พื้นฐาน/เทคนิค)
โดยมากผู้ที่เข้ามาลงทุนในหุ้น มักจะหวังผลตอบแทนในรูปของส่วนต่างราคาหรือ Capital Gain กัน หรือพูดง่ายๆว่า ซื้อถูกขายแพงนั่นเอง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าราคาไหนถูกน่าซื้อ ราคาไหนแพงไม่ควรซื้อ เราจะรู้ได้ก็จากการวิเคราะห์ราคาหุ้นนั่นเอง การวิเคราะห์ราคาหุ้นแบ่งเป็นสองรูปแบบหลักๆคือ
- วิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis)
- วิเคราะห์ด้วยปัจจัยทางเทคนิค (Technical Analysis)
การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐาน ก็คือการวิเคราะห์ธุรกิจของบริษัทซึ่งแยกย่อยออกเป็น 2 ส่วน i) วิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative) เช่นพวกงบการเงิน ตัวเลขทางการเงินต่างๆ ii) วิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative) เช่นพวกแนวโน้มธุรกิจ ภาพรวมอุตสหกรรม และเรามักจะเรียกผู้ที่ซื้อขายหุ้นด้วยวิธีการนี้ว่า นักลงทุน (Investor) สำหรับความรู้พื้นฐานในส่วนนี้จะกล่าวในหัวข้อถัดๆไป
การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยทางเทคนิค คือการเอาข้อมูลราคาในอดีตมาวาดเป็นชาร์ต (Chart; บ้างคนเรียกกราฟ) แล้วจึงวิเคราะห์แนวโน้มจากชาร์ตอีกที เนื่องจากนักเทคนิคมีความเชื่อว่า “Price includes everything” หรือราคาขึ้นลงนั้นได้สะท้อนพื้นฐานและข่าวสารต่างๆลงไปแล้ว เรามักเรียกนักเทคนิคหรือผู้ที่ซื้อขายด้วยวิธีการทางเทคนิคว่า “Trader” หรือนักเก็งกำไร เนื่องจากนักเทคนิคจะไม่ถือหุ้นนานมาก แต่มักจะซื้อขายตามสัญญาณทางเทคนิคมากกว่า (นักลงทุนบางครั้งแม้ราคาหุ้นจะตกลงไปเรื่อยๆก็ไม่ขาย หากมั่นใจว่าธุรกิจบริษัทยังไปได้ดี หนำซ้ำอาจเข้าซื้อเพิ่มด้วย เพราะเชื่อมั่นว่า สุดท้ายแล้วราคาจะวิ่งเข้าหาพื้นฐานที่แท้จริง ในขณะที่นักเก็งกำไรจะขายทันทีที่ชาร์ตส่งสัญญาณหุ้นเป็นขาลง)
ส่วนรูปแบบไหนดีกว่ากันนั้น ไม่สามารถตอบได้ ทั้งนี้อยู่ที่ความชอบและความถนัดของแต่ละคนมากกว่า
*บทความนี้จะเน้นไปที่การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยทางพื้นฐานนะครับ
เริ่มต้นค้นหาหุ้น
เอาหล่ะ ทีนี้ก็ได้เวลามาค้นหาหุ้นกัน สำหรับมือใหม่นั้นการค้นหาหุ้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากไม่รู้ว่ามีหุ้นอะไรที่เปิดให้ซื้อขายกันบ้าง ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับดัชนีหุ้นอ้างอิงกันก่อนดีกว่า เพื่อใช้เป็นแหล่งเริ่มต้นค้นหาหุ้นกัน ตลาดหลักทรัพย์ไทยแบ่งออกเป็น 2 ตลาดหลักๆด้วยกันคือ i) ตลาด SET และ ii) ตลาด MAI ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ตลาด SET ยังมีการทำดัชนีอ้างอิงดังต่อไปนี้
- SET 50 เป็นดัชนีที่ประกอบไปด้วยหุ้น 50 ตัวแรกที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดและมีสภาพคล่องในการซื้อขายสูง โดยจะมีการปรับทบทวนทุก 6 เดือน เราสามารถดูรายชื่อหุ้นใน SET 50 ได้ที่ http://marketdata.set.or.th/mkt/sectorquotation.do?market=SET§or=SET50
- SET 100 เป็นดัชนีที่ประกอบไปด้วยหุ้น 100 ตัวแรกที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดและมีสภาพคล่องในการซื้อขายสูง โดยจะมีการปรับทบทวนทุก 6 เดือน เราสามารถดูรายชื่อหุ้นใน SET 100 ได้ที่ http://marketdata.set.or.th/mkt/sectorquotation.do?market=SET§or=SET100
- SET HD เป็นดัชนีที่ประกอบไปด้วยหุ้น 30 ตัวแรกที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงสุด โดยมีกฏเกณฑ์ว่าจะต้องจ่ายเงินปันผลไม่เกินร้อยละ 85 ติดต่อกัน 3 ปีล่าสุดและเป็นหุ้นที่อยู่ใน SET 100 ด้วย และดัชนีจะมีการปรับทบทวนทุก 6 เดือนเช่นกัน เราสามารถดูรายชื่อหุ้นใน SET HD ได้ที่ http://marketdata.set.or.th/mkt/sectorquotation.do?market=SET§or=SETHD
ดังนั้นหากเราไม่รู้จะเริ่มค้นหาหุ้นจากตรงไหน ผมแนะนำให้เริ่มต้นจากดัชนีอ้างอิงข้างต้น เนื่องจากเป็นหุ้นที่มีความมั่นคงสูง (นอกจากนี้ในลิงค์ข้างต้นเรายังสามารถเลือกดูรายชื่อหุ้นตามกลุ่มอุตสาหกรรมได้ด้วย)
แนวทางการวิเคราะห์หุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐาน
การวิเคราะห์หุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐานสามารถแบ่งเป็น 2 แนวทางด้วยกันคือ i) แบบ Top-down และ ii) แบบ Bottom-up ซึ่งแต่ละแนวทางมีรายละเอียดดังนี้
- แบบ Top-down คือการมองจากภาพใหญ่ก่อน แล้วจึงค่อยเจาะลึกลงไปหาตัวหุ้น การมองภาพใหญ่ก็คือการมองเศรษฐกิจโดยรวม แนวโน้มทิศทางธุรกิจ ค้นหาว่าเทรนด์ธุรกิจไหนที่กำลังมาแรง กลุ่มอุตสาหกรรมไหนมีโอกาสเติบโต แล้วจึงไปค้นหาว่ามีหุ้นตัวใดบ้างในภาพใหญ่นั้น ยกตัวอย่างเช่น คนหันมารักสุขภาพกันมากยิ่งขึ้น ต้องการบริโภคอาหารประเภทปลอดสารพิษมากยิ่งขึ้น เราก็ไปค้นหาว่ามีหุ้นตัวไหนบ้างที่เกี่ยวข้องและได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ เป็นต้น
- แบบ Bottom-up คือการเจาะตรงไปที่ตัวหุ้นหรือกิจการบริษัทเลย ตัวไหนดีก็คือดี ไม่สนใจภาพใหญ่หรือแนวโน้มใดๆทั้งสิ้น (ยามที่เศรษฐกิจไม่ดี ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกบริษัทจะต้องแย่เสมอไป) วิธีการนี้เราอาจต้องเป็นคนช่างสังเกต สอดส่องสินค้าหรือบริการรอบๆตัวเรา ว่ามีอะไรบ้างที่ผู้คนจำเป็นต้องใช้หรือชื่นชอบและกลับมาซื้อใช้บ่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น ร้านกาแฟแห่งหนึ่งขายกาแฟที่มีรสชาติถูกปาก บรรยากาศในร้านสวยงามน่านั่ง และมีบริการที่เป็นกันเอง ทำให้มีลูกค้าประจำมากมาย แม้ว่าจะขายราคาแพงกว่าร้านอื่น แต่ก็มีผู้คนไปต่อแถวซื้อตลอด เป็นต้น
ส่วนเราจะเลือกแนวทางไหนนั้น คงต้องแล้วแต่สถานการณ์และความถนัดครับ
การวิเคราะห์หุ้นด้วยตัวเลขทางการเงิน
หลังจากเราได้ชื่อหุ้นที่เราสนใจแล้ว ก็มาถึงการวิเคราะห์ตัวหุ้นกัน ซึ่งก็คือการวิเคราะห์ตัวเลขทางการเงินนั่นเอง เจ้าตัวเลขเหล่านี้จะเป็นตัวบอกว่ากิจการบริษัทเป็นอย่างไร ก่อนอื่นให้เข้าหน้าเว็บ SET http://www.set.or.th/ และใส่ชื่อย่อหุ้นที่ต้องการเพื่อเข้าหน้า “ข้อมูลรายบริษัท/หลักทรัพย์” ยกตัวอย่างเช่นหุ้น EASTW ดังแสดงในรูปข้างใต้
จากนั้นให้เราคลิ๊กเข้าไปที่หน้า “‘งบการเงิน/ผลประกอบการ” ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ดังรูปข้างใต้
หน้านี้แหละที่เราจะมาดูตัวเลขทางการเงินและความหมายของมันกัน ก่อนอื่นเลยนะครับ ให้เราดูที่หัวตารางที่เขียนว่า “งบปี xx” นั่นคือคอลัมน์ที่บอกว่าตัวเลขการเงินข้างใต้เป็นของปีใด (บางทีข้อมูลล่าสุดอาจระบุเป็นไตรมาส เพราะยังไม่ครบปีนะครับ) สิ่งที่เราควรจะดูมีอะไรบ้าง ผมจะไล่เรียงจากบนลงล่างก็แล้วกันจะได้ไม่ต้องเลื่อนขึ้นเลื่อนลง และจะจัดเป็นชุดๆเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ (เมื่อผู้อ่านดูจนคล่องแล้ว ต่อไปก็คงจะตรงไปดูตัวเลขที่ต้องการเลย) ตัวเลขต่างๆมีความหมายและความสำคัญดังต่อไปนี้
(ชุดที่ 1)
หนี้สินรวม
เป็นตัวเลขที่บอกว่าตอนนี้บริษัทมีหนี้สินรวมเท่าไหร่ จะดูว่ามากหรือน้อยต้องไปเทียบกับตัวเลข “ส่วนของผู้ถือหุ้น”
ส่วนของผู้ถือหุ้น
เป็นตัวเลขที่บอกว่า ทรัพย์สินของบริษัทเมื่อหักหนี้สินออกหมดแล้ว ตีเป็นเงินเท่าไหร่ นั่นแหละส่วนของผู้ถือหุ้น (ถ้าติดลบก็แปลว่าบริษัทนี้มีแต่หนี้ ยกบริษัทให้ฟรีก็ไม่เอา :p) ซึ่งในที่นี้อาจจะเป็นเงินทุน, กำไรที่สะสมมาที่ยังไม่ได้จ่ายเป็นปันผลออกไป, ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ต่างๆที่ตีเป็นเงิน เป็นต้น ดังนั้น “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ยิ่งมากกว่า “หนี้สินรวม” ยิ่งดี ยกตัวอย่างเช่น ส่วนของผู้ถือหุ้น 100 ล้านบาท แต่มีหนี้สินรวมแค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น แสดงว่าบริษัทมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งมาก เป็นต้น
(ชุดที่ 2)
รายได้รวม
บอกรายได้รวมของบริษัท มากน้อยไม่สำคัญเพราะเป็นกำไรเท่าไหร่ไม่รู้ แต่ที่ควรจะให้ความสำคัญคือ รายได้เปรียบเทียบย้อนหลัง ซึ่งควรดูว่ามันมากขึ้นหรือน้อยลงเพียงใด ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีรายได้สูงขึ้นทุกปี อย่างนี้แปลว่าแนวโน้มดี เป็นต้น
กำไรสุทธิ
เป็นตัวเลขที่บอกว่ากำไรจริงๆเป็นเท่าไหร่ บางบริษัทรายได้เป็นแสนล้าน แต่กำไรสุทธิแล้วเหลือแค่หมื่นกว่าล้านเท่านั้นเอง กำไรมากน้อยก็ไม่สำคัญเพราะต้องดู “กำไรต่อหุ้น” บางทีจำนวนหุ้นเยอะ หารกันแล้วอาจเหลือกำไรไม่มาก อีกทั้งยังต้องเทียบกับต้นทุนด้วย จึงจะรู้ว่าบริษัทนี้กำไรดีหรือไม่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญคือ กำไรเปรียบย้อนหลังว่ามากขึ้นหรือน้อยลง ยิ่งกำไรมากขึ้นก็ยิ่งดี
กำไรต่อหุ้น (Earning Per Share, EPS)
นอกจากรายได้รวมและกำไรสุทธิแล้ว สิ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญมากๆก็คือ กำไรต่อหุ้น ครับ กำไรต่อหุ้นได้มาจาก กำไรสุทธิหารด้วยจำนวนหุ้น บางครั้งรายได้เพิ่มขึ้น กำไรสุทธิก็เพิ่มขึ้น แต่กำไรต่อหุ้นอาจน้อยลงก็ได้ครับ เพราะอาจมีการเพิ่มจำนวนหุ้นขึ้นจากปีก่อนๆก็เป็นได้ (กำไรเพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่ตัวหารมันดันเพิ่มขึ้นเยอะ) ดังนั้นจึงควรดูเปรียบเทียบย้อนหลังอีกเช่นเคย ยิ่งเพิ่มขึ้นทุกปีก็ยิ่งดีครับ ตัวเลขตัวนี้สำคัญมาก เพราะเดี๋ยวเราจะนำไปเปรียเทียบกับราคาหุ้น ว่าซื้อตอนนี้ถูกหรือแพงครับ
(ชุดที่ 3)
ROA
ROA (Return on Asset) คือ ตัวเลขแสดงความสามารถในการทำกำไรจากสินทรัพย์ของบริษัท แน่นอนว่าตัวเลขยิ่งมากยิ่งดี
ROE
ROE (Return on Equity) คือ ตัวเลขแสดงความสามารถในการทำกำไรจากเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นหรือ “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ข้างต้น แน่นอนว่าตัวเลขยิ่งมากยิ่งดี นักลงทุนส่วนใหญ่จะชอบดูตัวเลขนี้ กล่าวกันว่าตัวเลขที่ดีคือมากกว่า 15%
อัตรากำไรสุทธิ
อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) แสดงให้เห็นประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทในการทำกำไร หลังจากหักต้นทุนค่าใช้จ่ายรวมทั้งภาษีเงินได้หมดแล้ว แน่นอนว่าตัวเลขยิ่งมากยิ่งดี ซึ่งตัวเลขที่มากนี้อาจตีความได้ว่า มีคู่แข่งน้อยหรือหาใครทำสินค้าหรือบริการเลียนแบบได้ยาก
(ชุดที่ 4)
P/E
P/E (Price per Earning) คือ อัตราส่วนราคาต่อกำไร (ต่อหุ้น) ตัวเลขนี้ยิ่งต่ำยิ่งดี ยกตัวอย่างเช่น หุ้นราคา 100 บาท มีกำไรต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 10 บาท แสดงว่า ถ้ากำไรคงที่ทุกปี ซื้อราคานี้ถือต่อไป 10 ปีกำไรจะเท่าทุน เป็นต้น หรือกล่าวได้อีกอย่างว่า P/E คือตัวเลขแสดงว่า ราคาปัจจุบันแพงกว่ากำไรที่ทำได้กี่เท่านั่นเอง แล้วคุณผู้อ่านคิดว่าอยากจะซื้อหุ้น P/E 10 เท่าหรือ P/E 30 เท่าดี? อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าเราจะซื้อหุ้นดีๆที่ P/E ต่ำๆได้ง่ายๆ เพราะหุ้นบริษัทที่ดีๆใครๆก็ย่อมอยากได้แน่นอนว่าก็ย่อมไม่มีใครยอมขายให้ถูกๆ ดังนั้นราคาก็เลยขึ้นได้เรื่อยๆจน P/E มีค่าสูง หรืออีกนัยยหนึ่ง นักลงทุนยอมซื้อที่ราคา P/E แพงๆเพราะมองว่า EPS จะโตขึ้นเรื่อยๆจนราคาที่เขาซื้อไปนั้นจะเป็นราคาที่ถูกในอนาคตครับ แล้วหุ้นที่ P/E ต่ำๆดีเสมอไปหรือไม่ ไม่จำเป็นอีกเช่นกัน เพราะนักลงทุนอาจมองว่าแนวโน้มในอนาคตไม่ดี จึงไม่มีใครเข้าแย่งซื้อกัน หรืออีกนัยหนึ่งคือ ราคา P/E ที่เห็นถูกๆในวันนี้ อาจกลายเป็นแพงในอนาคตก็เป็นได้
P/B
P/B หรือ P/BV (Price per Book Value) คือ ราคาต่อมูลค่าทางบัญชี ซึ่งมูลค่าทางบัญชีก็คือ ส่วนของผู้ถือหุ้นนั่นเอง หรือพูดง่ายๆว่า หากบริษัทปิดตัวลงและขายทรัพย์สินออกไปจนหมด และเมื่อหักลบหนี้สินแล้วส่วนที่เหลืออยู่เอามาหารเฉลี่ยกันต่อหุ้นจะได้เท่าใด เพราะฉะนั้นตัวเลข P/B นี้ยิ่งต่ำก็ยิ่งดี แปลว่าเราซื้อหุ้นได้ในราคาที่ถูกกว่ามูลค่าประเมินปัจจุบันอีก อย่างไรก็ตามหุ้นดีๆมักหาซื้อในราคาที่ P/B ต่ำๆยาก และหุ้นที่ P/B ต่ำๆอาจเป็นเพราะนักลงทุนไม่ให้ราคากับมันก็เป็นได้ เราจึงพบเห็นหุ้นที่ P/B ต่ำๆเป็นเวลานานๆติดต่อกันหลายๆปีได้เป็นประจำ
อัตราเงินปันผล (Yield)
เมื่อบริษัทมีกำไร บริษัทก็จ่ายกำไรนั้นออกมาให้ผู้ถือหุ้นในรูปของเงินปันผล (Dividend) หรือ DPS (Dividend per Share) ส่วนเราจะดูว่าเงินปันผลนั้นจ่ายในอัตราที่สูงหรือไม่ เราต้องเทียบกับราคาหุ้น ซึ่งก็คือตัวเลขอัตราเงินปันผล (Yield) นั่นเอง ยิ่งมากแน่นอนว่าก็ยิ่งดีใช่ไหมครับ อย่างไรก็ตาม Yield ที่ดูว่าสูงหรือต่ำนั้นอาจเกิดจากหลายสาเหตุดังต่อไปนี้
- ราคาที่ซื้อขายของหุ้นตัวนั้นๆ ถ้าหุ้นราคาสูง Yield ที่ได้ก็ย่อมต่ำลงแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น หุ้น A จ่ายเงินปันผลเป็นเงิน 5 บาท หากราคาซื้อขายปัจจุบันอยู่ที่ 100 ก็เท่ากับว่า Yield คือ 5% แต่หากเราซื้อขายหุ้นกันที่ราคา 200 บาท Yield ก็ลดลงเหลือแค่ 2.5% เท่านั้น เป็นต้น
- อัตราการจ่ายเงินปันผล DPS เทียบ EPS ยกตัวอย่างเช่น หุ้น A มี EPS 5 บาทและจ่าย DPS 5 บาท แปลว่าเขาจ่ายจากกำไร 100% เลย ในขณะที่หุ้น B มี EPS 5 บาทแต่จ่าย DPS เพียงแค่ 2 บาทหรือ 40% เท่านั้น เนื่องจากบริษัทอาจจำเป็นต้องกันกำไรไว้ส่วนหนึ่งเพื่อนำไปลงทุนขยายกิจการต่อก็เป็นได้ เป็นต้น
ว่าด้วยเรื่องปันผล
การดูข้อมูลปันผลย้อนหลังนั้น เราสามารถเข้าดูได้ที่เว็บ www.set.or.th อีกเช่นเคย โดยไปที่แทป “ข้อมูลสิทธิประโยชน์” ดังแสดงในรูปข้างใต้
จากรูปจะเห็นว่า มีข้อมูลเครื่องหมาย “XD” อยู่ แล้วมันคืออะไร? XD ย่อมาจาก eXclude Dividend แปลว่าถ้าเราซื้อหุ้นก่อนวันที่ขึ้นเครื่องหมายและถือจนกระทั่งวันที่ขึ้น XD เราจะได้รับเงินปันผล ซึ่งจะจ่ายให้หลังตามวันที่ระบุใน “วันจ่ายปันผล” สรุปง่ายๆคือ ใครมาซื้อในวัน XD ก็ Exclude คือไม่ได้รับสิทธิ์นั่นเอง ดังนั้นพอวันที่ขึ้น XD ถึงคุณจะขายทิ้งคุณก็ยังได้รับปันผลอยู่ดี จำง่ายๆ “อยากได้ปันผล ซื้อก่อน XD”
(โบรคเกอร์มักจะส่งข้อมูลวัน XD ให้กับสมาชิกอยู่เรื่อย อีกทั้งโปรแกรมที่เราใช้ซื้อขายหุ้นหรือโปรแกรม Streaming ก็จะมีการแจ้งเตือนให้ทราบว่า เร็วนี้หุ้นจะมีการขึ้นเครื่องหมาย XD นะ อย่างไรก็ตามหากเราไปรอซื้อใกล้ๆก่อนวัน XD เราอาจได้ซื้อในราคาที่แพง เพราะมันขึ้นมารอแล้ว)
กลุ่มนักลงทุนในตลาดหุ้น
ทุกสิ้นวัน (ประมาณหลัง 17.00 น.) ทางตลาดหลักทรัพย์จะมีการประกาศ “สรุปมูลค่าการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุน” ซึ่งเราสามารถดูได้ที่เว็บ http://marketdata.set.or.th/mkt/investortype.do นี้ ทั้งนี้เราอาจใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อประกอบการลงทุนได้
กลุ่มนักลงทุนแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มดังนี้
- สถานบันในประเทศ คือกลุ่มกองทุนต่างๆ
- บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ คือกลุ่มโบรกเกอร์นั่นเอง บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งก็มีการซื้อขายหุ้นเพื่อสร้างรายได้เข้าบริษัทเช่นกัน
- นักลงทุนต่างประเทศ คือกลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติ
- นักลงทุนทั่วไปในประเทศ คือกลุ่มชาวไทย หรือที่ชอบเรียกๆกันว่า รายย่อย
ข้อมูลหุ้นจาก IAA Consensus
เราสามารถเข้าไปที่เว็บ www.settrade.com เพื่อดูความเห็นนักวิเคราะห์ต่อหุ้นต่างๆได้ โดยพิมพ์ชื่อหุ้นที่มุมซ้ายบนและคลิกที่ “IAA Consensus” ดังแสดงในรูปข้างใต้
เพียงเท่านี้เราก็จะได้ข้อมูลความเห็นจากนักวิเคราะห์ค่ายต่างๆต่อหุ้นตัวนั้นๆ อาทิเช่น ตัวเลขคาดการณ์ EPS, ราคาเป้าหมายเป็นต้น หุ้นบางตัวที่เป็นที่นิยมของนักลงทุนก็อาจมีความเห็นมากหน่อย ในขณะที่หุ้นที่ไม่ได้รับความนิยมก็อาจมีมีความเห็นน้อยหรือไม่มีเลยก็ได้ อย่างไรก็ตามเราไม่ควรเชื่อข้อมูลความเห็นนี้ทั้งหมด เราควร่ใช้เพื่อประกอบการพิจารณาการลงทุนเท่านั้น